STARK เอฟเฟ็กต์! หากล้มละลาย เจ้าหนี้-ผู้ถือหุ้น ใครได้เงินคืนก่อนหลัง?
จากกรณีที่บริษัท STARK เกิดปัญหาทุจริตภายในจนส่วนของเจ้าของติดลบ ประกอบกับราคาหุ้นล่าสุด (21 มิ.ย.) ร่วงสู่จุดต่ำสุดที่ 0.01 บาท จึงเป็นที่กังวลว่า หากบริษัทล้มละลายจริง ผู้ถือหุ้นจะยังคงได้รับส่วนแบ่งสินทรัพย์หรือไม่
Key Points
- บริษัท STARK มีหนี้สินสูงถึง 38,566 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์รวม 34,162 ล้านบาท จึงเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้บริษัทล้มละลายได้
- ตามกฎหมายแล้ว เมื่อบริษัทล้มละลาย สินทรัพย์บริษัทจะถูกจัดสรรไป “ใช้หนี้ก่อนอันดับแรก” ซึ่งเจ้าหนี้บริษัท คือ เจ้าหนี้การค้าและผู้ถือหุ้นกู้
- “การฟื้นฟูกิจการ” ช่วยให้บริษัทลูกหนี้ไม่ต้องปิดกิจการ ยังสามารถดำเนินกิจการได้ปกติ อีกทั้งได้รับการพักชำระหนี้ชั่วคราวด้วย เพื่อให้โอกาสลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างบริษัท ฟื้นฟูบริษัท
เมื่อไม่นานมานี้ เกิดกรณีอื้อฉาวกับ หุ้น STARK ที่มีการทุจริตภายในองค์กรและตกแต่งบัญชีขึ้น จนงบการเงินปี 2565 ระบุว่า ส่วนทุนของเจ้าของติดลบ 4,404 ล้านบาท บริษัทขาดทุน 6,651 ล้านบาท พร้อมหนี้สินที่สูงถึง 38,566 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์รวม 34,162 ล้านบาท จึงเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้บริษัทเสี่ยงล้มละลาย
เมื่อบริษัทมีหนี้สินจำนวนมหาศาล โดยเจ้าหนี้ของ STARK ส่วนใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นกู้หรือเหล่าประชาชนรายย่อย จึงน่าสนใจว่า ด้วยความที่บริษัท STARK สุ่มเสี่ยงล้มละลาย ประกอบกับมีหนี้สูงเช่นนี้ สำหรับ “ผู้ถือหุ้น” ซึ่งมีรายย่อยจำนวนมาก จะยังคงได้รับส่วนแบ่งหรือไม่ หากบริษัท STARK ล้มละลาย
- เมื่อบริษัทล้มละลาย (เครดิต: Shutterstock) -
- ลำดับการได้ส่วนแบ่งสินทรัพย์
ตามกฎหมายล้มละลายในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เมื่อบริษัทล้มละลาย สินทรัพย์บริษัทจะถูกจัดสรรไป “ใช้หนี้ก่อนอันดับแรก” ซึ่งเจ้าหนี้บริษัท คือ เจ้าหนี้การค้าและผู้ถือหุ้นกู้
หลักจากชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว หากสินทรัพย์ยังคงเหลือ จะถูกจัดสรรให้ “เจ้าของบริษัท” เป็นลำดับต่อไป ซึ่งคือผู้ถือหุ้น ดังนั้นจึงสามารถเรียงลำดับผู้ได้ส่วนแบ่ง จากลำดับแรกสู่ลำดับสุดท้าย ดังนี้
ลำดับที่ 1 เจ้าหนี้การค้า
เมื่อบริษัทซื้อวัตถุดิบและสินค้าต่าง ๆ จากบริษัทคู่ค้า แต่ไม่ได้จ่ายเงินทันที ขอค้างจ่ายเป็นเวลา 30 วัน หรือ 60 วัน แล้วแต่การตกลง บริษัทคู่ค้านี้จะกลายเป็น “เจ้าหนี้การค้า” ซึ่งอยู่ในลำดับแรกที่บริษัทต้องใช้หนี้คืน หากบริษัทล้มละลาย
ลำดับที่ 2 ผู้ถือหุ้นกู้
เมื่อบริษัทต้องการระดมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจ แต่ไม่สามารถกู้จากธนาคารได้อีก เพราะมีสัดส่วนหนี้ที่สูงเกินไป บริษัทสามารถเลือกออกหุ้นกู้ให้ประชาชนได้ ซึ่งก็คือการกู้จากประชาชนแทน โดยเสนออัตราดอกเบี้ยราว 5% 7% ฯลฯ ที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อดึงดูดผู้คนให้หันมาซื้อหุ้นกู้
สำหรับหุ้นกู้จะมีการจ่ายดอกเบี้ยตอบแทนเป็นระยะ พร้อมระบุวันไถ่ถอนเงินคืนได้ โดยผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญ
ลำดับที่ 3 ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ
ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิถือเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิได้เงินปันผล แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทเหมือนผู้ถือหุ้นสามัญ เพียงแต่ข้อดีคือ หากบริษัทล้มละลาย ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับส่วนแบ่งก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
ลำดับที่ 4 ผู้ถือหุ้นสามัญ
ผู้ถือหุ้นสามัญ เป็นเจ้าของบริษัทที่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุม ไม่ว่าในวาระการเพิ่มทุน การควบรวมกิจการ การลงทุนธุรกิจใหม่ รวมถึงยังได้รับเงินปันผลอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นสามัญกลับเป็นผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งเป็นลำดับสุดท้ายหากบริษัทล้มละลาย ดังนั้น ผู้ถือหุ้นสามัญจะเป็นผู้ได้รับส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากชำระให้เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิแล้ว
เมื่อเห็นลำดับการจัดสรรสินทรัพย์แล้ว บริษัท STARK ที่มีหนี้สินจำนวนมหาศาล ประกอบกับเงินที่สูญหายจากการทุจริตก็ไม่แน่ใจว่าจะตามกลับมาได้มากน้อยเพียงใด จึงเป็นเรื่องค่อนข้างท้าทายที่ส่วนแบ่งบริษัทจะตกถึงมือผู้ถือหุ้น
- “ล้มละลาย” ต่างจาก “ฟื้นฟูกิจการ” อย่างไร แบบใดดีกว่า
หลายคนอาจมองว่า “การล้มละลาย” และ “การฟื้นฟูกิจการ” มีความหมายคล้ายคลึงกัน แต่อันที่จริงนั้น 2 คำนี้แตกต่างกัน
สำหรับ “การล้มละลาย” คือ บริษัทไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ หรือ “มีหนี้สินล้นพ้นตัว” จนถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย เมื่อศาลตัดสินว่าบริษัทนี้ล้มละลายแล้วและสั่งพิทักษ์ทรัพย์ บริษัทก็จะเลิกกิจการ สินทรัพย์ใด ๆ จะถูกแบ่งใช้คืนเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นรถ บ้าน บัญชีธนาคาร สิ่งมีค่าใด ๆ ที่เจ้าหนี้ตรวจพบ จะถูกยึดเพื่อใช้หนี้คืน
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ล้มละลายจำนวนมาก มักไม่มีสินทรัพย์เพียงพอในการใช้หนี้คืน อีกทั้งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้ ยังถูกกดราคา คล้ายกับการขายสินค้าที่ใช้แล้ว
ดังนั้น มีอีกทางเลือกหนึ่งที่บริษัทลูกหนี้ไม่ต้องเลิกกิจการ และเป็นการให้โอกาสลูกหนี้ในการฟื้นฟูบริษัทด้วย ซึ่งก็คือ “การฟื้นฟูกิจการ” อย่างกรณี “การบินไทย” ที่ขอฟื้นฟูกิจการนั้น จะเห็นว่าบริษัทไม่ต้องปิดกิจการและยังสามารถดำเนินกิจการได้ปกติ
อีกทั้งได้รับการพักชำระหนี้ชั่วคราวด้วยตามระยะเวลาที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้ เพื่อให้โอกาสลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างบริษัท ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นในการใช้หนี้คืนได้
- กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้สามารถเจรจาเงื่อนไขหนี้ใหม่ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ต่าง ๆ กับเจ้าหนี้ได้ (เครดิต: Shutterstock) -
อ้างอิง: bankrate, investopedia, set, sec