รายย่อยเหยื่อSTARK ร้องทุกข์ DSI กล่าวโทษผู้ต้องสงสัย8ราย ฉ้อโกง-ฟอกเงิน
DSI รับเรื่องร้องทุกข์ กลุ่มรายย่อยเหยื่อSTRK กล่าวโทษผู้ต้องสงสัย 8 ราย ทั้งบุคคลและนิติบุคคล ฉ้อโกง-ฟอกเงิน เร่งอายัดทรัพย์ และห้ามหลบหนีไปนอกประเทศ ยันเร่งดำเนินการขณะนี้กองคดีทางการเงินกำลังเข้าไปตรวจสอบหลักฐานเพิ่มเติม จะมีการแถลงความคืบหน้าของคดีต่อไป
เมื่อเวลา 11.00น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตัวแทนนักลงทุนรายย่อย สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือSTARK นำโดย ทนายปริญ เกษะศิริ ,คุณประสงค์(ผู้แทนผู้ถือหุ้นรายย่อยSTARK 11,000ราย) และ ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ที่ ปรึกษาการลงทุน ประธานบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น รวมถึงตัวแทนรายย่อยบางส่วนได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีผู้แทนของเหยื่อผู้เสียหายที่เป็นรายย่อยSTARK มากกว่า 11,000ราย มาแจ้งความร้องทุกข์ต่ออธิบดี DSI กล่าวโทษบุคคล และนิติบุคคล รวม8 ราย ฐานฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงินและความผิดตามพ.ร.บ. หลักทรัพย์ และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กับขอให้อายัดทรัพย์ และห้ามผู้ต้องสงสัยเดินหลบหนีไปนอกประเทศ
ทางด้านนางสาวอรุณศรี วิชชาวุธ ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำหน้าที่ประสานงานรับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์ มารับหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ และกล่าวว่า หลังจากรับแจ้งความร้องทุกข์แล้วจะนำส่งเรื่องให้กองสอบสวนคดีการเงิน เพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบหลักฐานเพิ่มเติม
ส่วนกรณีบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ตามที่ปรากฎเป็นข่าวได้เดินทางมาเข้ามาพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอนั้นส่วนตัวยังไม่ทราบในรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าทางคดีดังกล่าว คงต้องรอทางกองสอบสวนคดีทางการเงินมาชี้แจงในรายละเอียด ซึ่งจะมีการอแถลงข่าวต่อไป
อย่างไรก็ตามภายในสัปดาห์นี้ทางดีเอสไอ จะเปิดระบบอิเล็กทรอนิกส์รับเรื่องร้องทุกข์ กรณีคดีสตาร์ค เช่นเดียวกับคดีคดีฟอเร็กซ์ 3ดี เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก
นายปริญ เกษะศิริ ทนายความ ที่ปรึกษาของกลุ่มผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) จำนวน11,000ราย กล่าวว่า ทางด้านผู้แทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)- STARK จำนวนมากกว่า 11,000 ราย ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหาย ได้เข้าร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้เร่งดำเนินคดีต่อนิติบุคคล และบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยร่วมกันกระทำความผิดจำนวน 8 ราย ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.หลักทรัพย์ โดยขอให้เร่งรัดจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดในทันที เนื่องจากผู้ต้องหาจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี เพราะมูลค่าความเสียหายมีจำนวนสูงมาก และคัดค้านการประกันตัวระหว่างสืบสวนสอบสวนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในทันที และไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพราะอาจหลบหนีไปต่างประเทศ กับขอให้DSI เร่งประสานงานกับคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมดโดยทันที ประกอบด้วย
1. บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)
2. บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
3. นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบุคคลที่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ให้ข้อมูลว่าอาจได้รับผลประโยชน์จากการโอนเงินเข้าบัญชีบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
4. นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท STARK
5. นายชินวัฒน์ อัศวโภคี อดีตกรรมการบริษัท STARK
6. นายกุศล สังขนันท์ อดีตกรรมการบริษัท STARK
7. นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินบริษัท STARK
8. และหรือบุคคล นิติบุคคลอื่นใดที่ร่วมกันสมคบคิดกระทำผิดโดยทุจริต
ทั้งนี้บุคคลและนิติบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิด ระหว่างปี 2563 - 2564 สร้างงบการเงินบริษัทปลอม ทำให้พวกข้าพเจ้าที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยมากกว่า11,000รายเข้าไปซื้อหุ้นลงทุน แต่ปรากฏความจริงจากการตรวจสอบบัญชีเป็นกรณีพิเศษในภายหลังว่ามีการเบียดบังเงินของบริษัทSTARKไปมากถึง 10,451 ล้านบาท โดยอ้างว่า เป็นการจ่ายให้บริษัทคู่ค้า 3 ราย แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีกลับพบว่า บริษัท STARK ไม่ได้จ่ายให้บริษัทคู่ค้าดังกล่าวแต่เป็นการโอนเงินออกไปให้ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับนายวนรัชต์ตั้งคารวคุณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยตรง อันเป็นพฤติการณ์ผิดกฎหมายฐานฟอกเงิน
ทั้งยังปรากฏตามหลักฐานการให้สัมภาษณ์ของนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตCFOของSTARKว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บริหารของSTARK3ราย โดยรับคำสั่งโดยตรงจากนายชนินทร์ให้ปลอมแปลงบัญชี เพื่อหลอกลวงให้พวกข้าพเจ้า ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าใจผิดในสาระสำคัญว่ากิจการของSTARK กำลังมึความเจริญก้าวหน้า และราคาหลักทรัพย์มีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้น พวกข้าพเจ้าจึงหลงเชื่อพากันเข้ามาซื้อหุ้นลงทุน จนผลักดันให้ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 5.50 บาทต่อหุ้น มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมากถึง73,733 ล้านบาท ซึ่งนายศรัทธาให้สัมภาษณ์ว่านายวนรัชต์ได้ขายหุ้นล็อตใหญ่ออกไปได้เงินมากกว่าหมื่นล้านบาท อันเป็นการกระทำผิดฐานปั่นหุ้นลวงให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้าใจผิด และฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากเมื่อความจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่าความจริงบริษัทประสบปัญหาขาดทุน จนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ เข้าเกณฑ์ต้องหยุดการซื้อขายเพื่อฟื้นฟูกิจการ ราคาหลักทรัพย์ได้ตกมาเหลือราคาปิดครั้งสุดท้ายอยู่ที่0.02 บาท หรือเหลือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเพียง 268 ล้านบาท หรือมูลค่าหลักทรัพย์เสียหายไปรวมมากกว่า 73,465 ล้านบาท อันรเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากราคาหลักทรัพย์ใม่ได้เคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดตามปกติธุรกิจ
ทั้งนี้บรรดาผู้กระทำผิดร่วมขบวนการยังได้บังอาจกระทำการหลอกลวง โดยเจตนาทุจริต ให้พวกข้าพเจ้าหลงเชื่อโดยเสนอ แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จทางสารสนเทศผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่เป็นระยะ เป็นเหตุให้ประชาชนตลอดจนบริษัทกองทุนต่างๆหลงเชื่อข้อมูลเท็จที่บุคคลกลุ่มดังกล่าวนำเสนอและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ หลายกรรมหลายวาระ อันเป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเป็นการฉ้อโกงประชาชน
พวกข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ลงทุนรายย่อยในบริษัทSTARK มากกว่า11,000 ราย รวบรวมหลักฐานชั้นต้นได้ 21 ราย และอีก1,759 ราย พร้อมจะร่วมเป็นเจ้าทุกข์ดำเนินคดีทั้งอาญาและทางแพ่ง ไม่มีที่พึ่งอื่นใด จึงได้ร่วมกันมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยขอให้ท่านเร่งดำเนินคดีต่อนิติบุคคล และบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยร่วมกันกระทำความผิดจำนวน 8 ราย ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.หลักทรัพย์
โดยขอให้เร่งรัดจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดในทันทีเนื่องจากผู้ต้องหาจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และอาจหลบหนี เพราะมูลค่าความเสียหายมีจำนวนสูงมาก และคัดค้านการประกันตัวระหว่างสืบสวนสอบสวน และไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพราะอาจหลบหนีไปต่างประเทศของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในทันที กับขอให้DSI เร่งประสานงานกับคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมดโดยทันที