ภาคต่อ STARK ล้วงลึก “ปั่นหุ้น “ โยงผู้บริหาร - ผู้ถือหุ้น
ใครที่ติดตามคดีทุจริต "สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น" หรือ STARK เป็นการตามติดกันเป็นหนังภาคต่อกันยาวๆ เพราะเบื้องต้นการกล่าวโทษไปที่การตกแต่งทางบัญชี และการผ่องถ่ายเงินออกไป หรือการฟอกเงิน ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวมถึง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
หากประเด็นที่อดีต CFO ออกมาไล่แฉรายบุคคลว่าด้วยการยอมรับว่าเป้าหมายหลักการดำเนินการทุกอย่างเพื่อตกแต่งบัญชีเป็นเรื่อง "สร้างราคาหุ้น" ให้เป็นไปตามเป้าหมายเป็นสำคัญ และได้มีผู้ที่ใช้ประโยชน์จากการตกแต่งบัญชีรับผลประโยชน์ด้านราคาหุ้นไปเป็นมูลค่าหมื่นล้านบาท
กรณีการ “สร้างราคา” หรือ การปั่นหุ้น จะเป็นอีกคดีที่ ก.ล.ต. รับทราบประเด็นจากการออกมายอมรับของหนึ่งในผู้ดำเนินการแล้ว และเป็นที่มา ก.ล.ต.ต้องออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อขยายผลการดำเนินคดีเพิ่มเติม ทั้งเรื่องผู้สอบบัญชี การปั่นราคาหุ้น การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
เฉพาะการดำเนินคดีกับผู้สอบบัญชี มีการแยกเป็น 2 ส่วนคือ ผู้สอบบัญชี STARK ที่อยู่ภายใต้อำนาจของ ก.ล.ต.ที่จะเข้าไปกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนที่สามารถเข้าตรวจสอบได้ทันที มีกระบวนการตรวจสอบพยานหลักฐาน และกรณีที่ผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อยของ STARK และบริษัทที่เกี่ยวข้องที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. จะดำเนินการตรวจสอบด้วยการประสานงานกับสภาวิชาชีพทางบัญชีอีกทาง
จากข่าวดังกล่าวเป็นการดำเนินคดีขั้นรุนแรงต่อผู้ทุจริต STARK ทางคดีอาญา และทางคดีแพ่ง ที่สำคัญ ก.ล.ต. ยังออกคำสั่ง อายัดทรัพย์ ทุกประเภทเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหุ้น STARK รวมทั้งหุ้น TOA ของ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” หนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวโทษ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK ด้วย
ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การนำหลักฐานที่เชื่อมโยง และผูกพันในการสั่งการของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ STARK ผ่านการลงนามที่จะมีออกมาให้เห็นต่อจากนี้ หลังจากก่อนหน้านี้มีการชี้ไปยังการขายหุ้น ของ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ”
ตั้งแต่รายงาน ขายหุ้นช่วงเดือน ต.ค. 2563 “วนรัชต์ “ กระจายหุ้นให้แก่นักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศรวมจำนวน 2,250 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น9.45 % ของจำนวนหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมดของบริษัทในราคาที่คำนวณมาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์(BookBuilding) มีผลทำให้ฟลีโฟลตเพิ่มขึ้นจาก11.40 % ของจำนวนหุ้นที่ออกแล้วของทั้งหมดบริษัทเป็น 20.85 %
การขายหุ้นเพื่อเพิ่มฟรีโฟลตอีกรอบในช่วงปี 2564 ผ่านกระดานบิ๊กล็อต 952 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 8% แต่ยังคงถือสัดส่วน 70% เมื่อรวมกับ Stark Investment Corporation Limited ระบุว่าเป็นการดำเนินการผ่าน บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย) ได้แบ่งจัดสรรให้กับพันธมิตรทั้งนักลงทุนสถาบัน 40% สถาบันต่างประเทศ 50% และนักลงทุนรายใหญ่ จนทำให้ฟรีโฟลตเพิ่มเป็น 30%จาก 20%
หลังจากนั้น เดือนส.ค. 2565 STARK มีการเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจงหรือ PP ด้วยการอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท 1,500,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 15,875,206,607 บาท เป็น 17,375,206,607 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,500,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement)
และด้วยเป็นราคาต่ำกว่า 90% ของราคาตลาด จึงมีเงื่อนไขห้ามไม่ให้บุคคลที่ได้รับหุ้นจากการเสนอขายหุ้น PP นำหุ้นที่ได้รับจากการเสนอขายทั้งหมดออกขายภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่หุ้นเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยภายหลังจากวันที่หุ้นดังกล่าวเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครบกำหนดระยะเวลา 6เดือน ให้บุคคลดังกล่าวสามารถทยอยขายหุ้นที่ถูกสั่งห้ามขายได้ 25%ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ถูกสั่งห้ามขาย
ปีเดียวกันยังมีการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ STARK – W1 จำนวน 3,968 ล้านหน่วย ในอัตราใช้สิทธิ 1 : 1 ที่ราคา 5.00 บาท ให้กับผู้ถือหุ้นและมีการซื้อขายในตลาดหุ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกำหนดการใช้สิทธิ 31 มี.ค. 2566 ด้วยสถานการณ์การเงินที่ไม่ชัดเจน ด้วยการไม่ส่งงบการเงินทำให้ไม่มีการใช้สิทธิแปลงสภาพ STARK-W 1
ขณะเดียวกันปลายปี 2565 ยังมีการใช้เครื่องมือตลาดทุนด้วยการทำ ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) จะดำเนินการจากสภาพคล่องส่วนเกินจากการประกอบกิจการของบริษัทเมื่อบริษัทมีกำไรสะสมเพียงพอ และจากเงินเพิ่มทุน PP มาใช้แต่ถูกพับแผนไปซะก่อนจากการถูกตรวจสอบงบการเงิน
กางไทม์ไลน์แล้ว จากงบการเงินที่ทุจริตเท่าที่มีการกล่าวโทษ 2564-2565 แสดงเห็นได้ชัดแล้วว่ามีการเชื่อมโยงไปยังราคาหุ้นแทบทุกครั้ง และอาจจะเป็นช่องทางตรวจสอบของ ก.ล.ต.ในนาทีนี้ไปด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์