ดาวโจนส์พุ่งเกือบ 200 จุด ปิดบวก 11 วันติด ทุบสถิติขาขึ้นนานสุดรอบกว่า 6 ปี

ดาวโจนส์พุ่งเกือบ 200 จุด  ปิดบวก 11 วันติด ทุบสถิติขาขึ้นนานสุดรอบกว่า 6 ปี

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(24ก.ค.)ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพุ่งขึ้นเกือบ 200 จุด ถือเป็นการทำสถิติปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 11 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2560

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 183.55 จุด หรือ 0.52%  ปิดที่ 35,411.24 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 18.30 จุด หรือ 0.40%  ปิดที่ 4,554.64 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 26.06 จุด หรือ 0.19% ปิดที่ 14,058.87 จุด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 183.55 จุด หรือ 0.52%  ปิดที่ 35,411.24 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 18.30 จุด หรือ 0.40%  ปิดที่ 4,554.64 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 26.06 จุด หรือ 0.19% ปิดที่ 14,058.87 จุด

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้ โดยเทน้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 0.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%

นอกจากนี้ ตลาดมองว่าเฟดใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังการเปิดเผยยอดค้าปลีก, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาด โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้เป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ และจะคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

ทั้งนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 39.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.2567 โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระดับ 32.9% เมื่อเดือนที่แล้ว

 ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสัปดาห์นี้ โดยบริษัทอัลฟาเบทและไมโครซอฟท์จะเปิดเผยผลประกอบการหลังปิดตลาดพรุ่งนี้ ขณะที่บริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ จะเปิดเผยหลังปิดตลาดวันพุธ

นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยดัชนีดังกล่าวสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)