EA ผนึกยักษ์จีน ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังการผลิตเริ่มที่ 6 GWh ในไทย

EA ผนึกยักษ์จีน ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังการผลิตเริ่มที่ 6 GWh ในไทย

EA จับมือพันธมิตรจีน 2 ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ EVE และ Sunwoda ร่วมศึกษาและจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่กำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 6 GWhในประเทศไทย

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า EA ได้ลงนาม MoU กับ EVE Energy Co.,Ltd. (EVE) และ MoU กับ Sunwoda Mobility Energy Technology Co.,Ltd. (Sunwoda) ซึ่งเป็น 2 พันธมิตรผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีน ที่สนใจการขยายตลาดแบตเตอรี่ในไทย เพื่อร่วมศึกษาและจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังผลิตเริ่มต้นที่ 6 GWh ในประเทศไทย โดยคาดว่าผลจากการศึกษานี้จะนำไปสู่การจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขั้นสูงด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ไฟฟ้า (Energy Storage System : ESS) เพื่อรองรับความต้องการของแบตเตอรี่ในกลุ่มบริษัท EA รวมถึงตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยและอาเซียน โดยเฉพาะเพื่อป้อนเข้าโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้มีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง

อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA)

เมื่อผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จ EA จะนำเสนอ บริษัท Amita Technology (Thailand) Co.,Ltd เข้าร่วมการลงทุนกับพันธมิตรจีน เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ แบบ Prismatic Battery Cell โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตระบบอัตโนมัติขั้นสูงและมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนวัตถุดิบต่ำจากพันธมิตรจีนที่มี Raw material supply chain ครบวงจร มีการวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่สูง ซึ่งรวมถึงการต่อยอดการผลิตแบตเตอรี่แพ็ค เพื่อให้มีต้นทุนรวมในการผลิตแบตเตอรี่ใกล้เคียงกับต้นทุนแบตเตอรี่ที่ผลิตจากจีน โรงงานนี้จะผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทยและรองรับความต้องการใช้แบตเตอรี่ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน

โดยการวิจัยและพัฒนาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (ESS) โดยระยะเริ่มต้นดำเนินกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในประเทศไทย เพื่อตอบรับสนับสนุนนโยบาย 30@30 ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้การดำเนินโครงการนี้มีความเป็นไปได้ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ร่วมทุน ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการเร่งรัดและผลักดันนโยบายนี้ออกมา เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion และก้าวไปเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคต


ทั้งนี้ EVE Energy Co.,Ltd. (EVE)  ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ Lithium-ion อันดับ 3 ของจีน มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 360 GWh โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนำมาใช้อย่างแพร่หลายในด้าน Internet of Things (IoT), ยานยนต์ไฟฟ้า และด้าน Energy Storage System (ESS) ซึ่งให้บริการแก่แบรนด์รถยนต์ชั้นนำระดับโลก เช่น BMW, Daimler, Hyundai และ Jaguar Land Rover รากฐานการขายทั่วโลกของบริษัทได้ขยายไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี มาเลเซีย และภูมิภาคอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทยังเป็น 1 ใน 10 บริษัทชั้นนำของโลกในด้านการให้บริการติดตั้งแบตเตอรี่

ขณะที่ Sunwoda Mobility Energy Technology Co.,Ltd. (Sunwoda) ถือเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion สำหรับ EV อันดับ 5 ในประเทศจีนและอันดับ 9 ในตลาดโลก มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ต่อปีมากกว่า 100 GWh และจะเพิ่มเป็น 138 GWh ภายในปี 2568 ตลอดจนมีแผนในการเข้าสู่ตลาดยุโรปและการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในฮังการี โดย Sunwoda ได้รับการยอมรับในการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชาร์จเร็ว, แบตเตอรี่ PHEV/HEV ตลอดจนแบตเตอรี่ Super-Fast Charge SFC480 นอกจากนี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 1 ของ Benchmark ในกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ ได้แก่ Dongfeng Maxus, Geely, Li Auto, Huawei, XPeng, Renault และ Nissan เป็นต้น