ผ่าพอร์ตหุ้น ‘กระทรวงการคลัง’ ในอุ้งมือ ‘เศรษฐา’

ผ่าพอร์ตหุ้น ‘กระทรวงการคลัง’ ในอุ้งมือ ‘เศรษฐา’

เช็ก 11 หุ้นพอร์ต กระทรวงการคลัง หลังคาด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อาจควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

หลังจาก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ยังคงต้องลุ้นโผ ครม.รัฐบาล “เศรษฐา 1” ว่าใครจะเข้าดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงใดกันบ้าง 

ล่าสุดคาดว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อาจจะควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกระทรวงเกรดเอ ที่เป็นหน่วยงานหารายได้หลักของประเทศ และคุมในเรื่องกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต มีรัฐวิสาหกิจ 15  แห่ง 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ยังต้องรอความชัดเจนออกมาก่อน เพราะไม่ว่าใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า ยังคงต้องเป็นคนของพรรคเพื่อไทยอยู่ดี 

ขณะที่การเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นแกนของทางเพื่อไทย ซึ่งมองว่า ยังไม่ได้ภาพในลักษณะของตัวบุคคล แต่เป็นการสะท้อนภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลักมาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมองเป็นเรื่องดี แต่ตลาดหุ้นได้มีการรับรู้มาแล้วในระดับหนึ่ง 

“ไม่ว่าเป็นใครของเพื่อไทย ที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาบริหารกระทรวงการคลังดีว่าเป็นเรื่องดี ไม่ว่าจะเป็น คุณเศรษฐา หรือคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะว่ามองว่า คุณกิตติรัตน์ เคยทำงานในตลาดทุนมาก่อน ตลาดหุ้นก็จะยิ่งชอบ”

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้านหนึ่งว่า กรณีนายกรัฐมนตรี ควบรวมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ผ่านมายังไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งมองว่าหาเป็นเช่นนั้นจริงอาจจะเป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก 

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า ไม่น่าจะเห็นของการควบรวมทั้ง 2 ตำแหน่ง เนื่องจากทุกวันนี้จำนวนเก้าอี้ที่ต้องมีการแจกจ่ายมีอยู่จำนวนจำกัด ซึ่งมีคิวที่รออยู่อีกมาก เลยทำให้เกิดความคิดว่า ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นได้ 

“การที่นายกฯ จะเข้ามาเข้ามาดูแล กระทรวงการคลังเพื่อที่ต้องการกระทรวงการคลัง กับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมองว่า เป็นเหตุผลที่ตื้นไป ดูไม่ค่อยใช่ ต้องมีเหตุผลที่มากกว่านี้  ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ยังมีความน่าเป็นห่วงฐานะทางการคลัง อาจจะต้องมีการกู้เพิ่ม” 

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า น่าจะเป็นอาจารย์ศุภวุฒิ สายเชื้อ เข้ามาบริหารในกระทรวงการคลัง แต่น่าจะเป็นเรื่องยาก ขณะที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง มองว่าก็อาจจะเป็นไปได้แต่มีความไม่โดดเด่น แม้ว่าก่อนหน้านั้น กิตติรัตน์ จะเคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน แต่สถานการณ์ในช่วงนั้นต้องยอมรับว่า มีตัวเลือกที่เข้าบริหารค่อนข้างน้อย แต่เมื่อเทียบกับยุคปัจจุบันค่อนข้างตัวเลือกมากขึ้น แต่อย่างไรยังคงต้องติดตามรอดูผลการจัดสรรกันอีกทีว่าสรุปแล้วจะมีใครเข้ามาดำรงตำแหน่งไหนบ้าง 

ส่วนมิติอื่นๆ ที่น่าสนใจสำหรับ เศรษฐา กับการก้าวเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในรอบ 17 ปี ของประเทศไทย ที่มาจากภาคธุรกิจที่ค่อนข้างชัดเจนเต็มตัว แม้ว่า หากย้อนกลับไปช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มีความเป็นนักธุรกิจไม่ชัดเจนมากนัก แม้ว่าจะมาจากธุรกิจของครอบครัวที่ ยิ่งลักษณ์ เข้ามาดูบ้าง แต่ไม่ได้เป็นหัวขบวนหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์บริษัท ขณะเดียวกันรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ขึ้นมากับความขัดแย้งกับกลไกของรัฐบาลบางส่วน โดยเฉพาะกับกลุ่มทหาร จึงทำให้ในช่วงนั้นยังไม่ได้รับแรงสนับสนุนที่มากพอ

หากเทียบกับ แสนสิริ ที่ เศรษฐา เข้ามาบริหารอย่างเต็มตัว และมีความเป็นเอกชนค่อนข้างสูง มิน่าจะได้รับแรงสนับสนุนที่มากพอ ดังนั้น 4 ปี หลังจากนี้น่าจะมีอะไรที่ทำให้ประเทศไทยได้มากขึ้น  

ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจพอร์ตของกระทรวงการคลัง ที่ปัจจุบันเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 13 หลักทรัพย์ แบ่งเป็นลงทุนในหุ้น 11 หลักทรัพย์ และกองทุนอีก 2 หลักทรัพย์ 

ผ่าพอร์ตหุ้น ‘กระทรวงการคลัง’ ในอุ้งมือ ‘เศรษฐา’

1.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) AOT

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1
  • มาร์เก็ตแคป 1,028,570.40 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 5,358.93 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -9,755.32 ล้านบาท 
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 32,997.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 10,367.88 ล้านบาท 
  • P/E 255.46 เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 76.50 / 66.00 บาท 

2.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) BCP

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 5
  • มาร์เก็ตแคป 51,290.39 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ลดลงที่ 3,199.05 ล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 9,632.54 ล้านบาท 
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 149,754.10 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 153,678.06 ล้านบาท 
  • P/E 8.35 เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 40.00 / 28.75 บาท 

3.บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) BEYOND

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3
  • มาร์เก็ตแคป 3,799.90 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 221.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -285.82 ล้านบาท 
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 1,434.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 815.10 ล้านบาท 
  • P/E 22.91 เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 17.30 / 10.90 บาท 

4.บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) DMT

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2
  • มาร์เก็ตแคป 15,001.66 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 486.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 330.44 ล้านบาท 
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 1,143.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 783.66 ล้านบาท 
  • P/E  16.02 เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 14.50 / 10.20 บาท 

5.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) MCOT

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1
  • มาร์เก็ตแคป 2,432.33 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ลดลงที่ -119.49 ล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -54.11 ล้านบาท
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 632.68 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 662.14 ล้านบาท 
  • P/E  - เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 5.45 / 3.42 บาท 

6.บริษัท เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) NEP

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2
  • มาร์เก็ตแคป 441.82 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ลดลงที่ -10.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนติดลบที่ -24.14 ล้านบาท
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 69.88 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 178.47 ล้านบาท 
  • P/E - เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 0.47 / 0.13 บาท 

7.บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3
  • มาร์เก็ตแคป 246,000.00 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ลดลงที่ 5,731.47 ล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 10,412.92 ล้านบาท 
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 387,396.87ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 390,512.52 ล้านบาท 
  • P/E 43.24 เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 27.50 / 19.60 บาท 

8.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) PTT

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1
  • มาร์เก็ตแคป 1,013,986.37 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ลดลงที่ 47,961.73 ล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 64,418.69 ล้านบาท 
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 1,549,440.33 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1,693,499.03 ล้านบาท 
  • P/E 13.57 เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 38.00 / 29.50 บาท 

9.บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) RPH

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 5
  • มาร์เก็ตแคป 3,385.20 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ลดลงที่ 81.88 ล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 238.55 ล้านบาท 
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 557.36 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 809.06 ล้านบาท 
  • P/E 26.08 เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 6.70 / 5.70 บาท 

10.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1
  • มาร์เก็ตแคป - ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 14,775.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ -6,467.38 ล้านบาท 
  • รายได้รวม 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 82,836.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 39,705.74 ล้านบาท 
  • P/E - เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด - บาท 

11.ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) TTB

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 3
  • มาร์เก็ตแคป 166,608.78 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกของปี 66 ที่ 8,860.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 6,633.23 ล้านบาท 
  • P/E 10.14 เท่า 
  • ราคา 52 สัปดาห์สูงสุด/ต่ำสุด 1.80 / 1.18 บาท 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์