เปิด ‘ไทม์ไลน์’ JKN เร่งลงทุน ทำเงินขาดมือ ก่อนกลายเป็น บจ. เบี้ยวหนี้หุ้นกู้
การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของ “เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป” กลายเป็นกระแสพูดถึงว่ากำลัง “เกิดอะไรขึ้น ?” ทั้งๆ ผลงานมี “กำไร” ก่อนความจริงซ่อนอยู่จะถูกเฉลย ! หลัง “เร่งลงทุนจนมีมูลค่าสูงเกินไป” จนทำให้เงินสดขาดมือ กลายเป็น บจ. เบี้ยวคืนหนี้หุ้นกู้
หาแหล่งเงินภายนอกเข้ามาเติม “สภาพคล่อง” ที่กำลังเจือจางไม่ทัน สารพัดปัญหาก็จะบังเกิดขึ้นทันที !! และ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 24.55% อย่าง “แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” คือหนึ่งในบริษัทที่กำลังเผชิญกับคลื่นขนาดใหญ่ (Storm Surge) ซัด ! บ่งชี้ผ่านในช่วงที่ผ่านมา JKN “เร่งลงทุนที่มีมูลค่าสูงมากเกินไป” ส่งผลให้เกิดการก่อหนี้ขึ้นจำนวนมาก...
สะท้อนผ่านปี 2565 ตัวเลขเงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน 2,846.80 ล้านบาท !! ขณะที่ ในปี 2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 608.43 ล้านบาท และล่าสุด 6 เดือนแรกปี 2566 มีกำไรสุทธิ 121.48 ล้านบาท ดังจะเห็นได้แม้ผลดำเนินงาน JKN จะมีกำไรสุทธิก็ตามแต่ก็ยังไม่มากเท่ากับตัวเลขของการลงทุน...
ดังจะเห็นว่าผลกำไรหลักร้อยล้าน แต่เงินลงทุนระดับพันล้าน... แล้ว JKN นำเงินจากที่ไหนมาลงทุน ก็คงต้องบอกว่ามาจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่มีเครื่องมือและช่องทางใช้หาแหล่งเงินผ่านการระดมทุนในตลาดทุนได้ทั้ง “ออกหุ้นกู้-เพิ่มทุน-กู้เงิน”
หากเอ่ยถึง JKN เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ในวันแรกเมื่อ 30 พ.ย. 2560 และใช้เวลาขยายกิจการให้เติบโตจนเลื่อนเข้ามาโลดแล่นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563
ปัจจุบัน JKN แยกธุรกิจหลักได้เป็น 5 กลุ่มคือ
1. ธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในประเทศ
2. ธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปยังต่างประเทศ
3. ธุรกิจให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้า
4. ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์
5. ธุรกิจการบริหารจัดการลิขสิทธิ์นางงามจักรวาล
หากย้อนดูการลงทุนของ JKN เริ่มต้นจากความสวยหรูและวาดฝันถึงตัวเลขที่จะเข้ามาสร้าง “ผลตอบแทน” ที่ดีให้บริษัท ทว่าวันนี้ ! การลงทุนหนักๆ ในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นธุรกิจที่ยังไม่สามารถหนุนให้ผลประกอบการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงส่งผลรุนแรงทำให้ “เงินสดขาดมือ”
แม้ว่าที่ผ่านมา JKN จะพยายาม “ระดมทุน” ทุกหนทางทั้งการเพิ่มทุนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ขายได้ไม่ครบตามจำนวนที่ จนกลายเป็นไม่สามารถชำระคืนหนี้หุ้นกู้ 609 ล้านบาท ที่ครบกำหนดไถ่ถอน 1 ก.ย. ที่ผ่านมา และสามารถจ่ายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น !!
ไทม์ไลน์ การลงทุน-ขยายธุรกิจ ของ JKN
กรุงเทพธุรกิจ” จะพาไปย้อนกลับไปดู “ไทม์ไลน์” การลงทุนของ JKN ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการลงทุนขยายธุรกิจอะไรบ้าง ?
- ปี 2557 ซื้อหุ้น บริษัท เจเคเอ็น บรอดคาสท์ สัดส่วน 70% จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้บริหารของบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเวลาโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ระบบผ่านดาวเทียมของกลุ่มบริษัท และสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัลซึ่งกลุ่มบริษัทซื้อมาจากทางสถานีระบบดิจิตอล
- ปี 2559 ได้รับสิทธิ์จาก National Broadcasting Company Universal (NBC) เพื่อผลิตและเผยแพร่รายการต่างๆ ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี (CNBC) ในรูปแบบภาษาไทย โดยรายการที่ได้รับสิทธิ์เป็นผู้ผลิตและออกอากาศ อาทิเช่น รายการข่าวประจำวัน รายการข่าวเศรษฐกิจ เป็นต้น
- ปี 2561 แถลงข่าวความร่วมมือระหว่างทีวีดิจิทัลช่อง 8
- ปี 2561 แถลงข่าวความร่วมมือกับ Bright TV
- ปี 2561 เซ็นสัญญากับ บมจ. บีอีซี เวิลด์ (BEC) เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ คอนเทนต์ละครไทยของช่อง 3 นำไปขายตลาดต่างประเทศ
- ปี 2561 ขยายตลาดการขายคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศ โดยร่วมงานฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์มมาร์ท ประเทศฮ่องกง
- ปี 2562 ต่อสัญญากับ BEC นำลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครไทยของช่อง 3 ไปทำตลาดและจำหน่ายคอนเทนต์ในตลาดต่างประเทศ
- ปี 2563 รายการข่าวระดับโลก CNBC ภายใต้แบรนด์ JKN-CNBC ดำเนินงานโดยบริษัท เจเคเอ็น นิวส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เริ่มออกอากาศทางช่อง GMM 25
- ปี 2564 เปลี่ยนชื่อบริษัทย่อย จากเดิมชื่อ บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด เปลี่ยนเป็นชื่อ บริษัท เจเคเอ็น เบสท์ ไลฟ์ จํากัด โดยขยายขอบเขตการทำธุรกิจเป็นการให้บริการสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล และการผลิตและจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ ความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภค
- ปี 2564 ซื้อหุ้นสัดส่วน 60% ของ บริษัท เอ็มเอ็น เบฟเวอเรจ โดยทำธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบบบรรจุขวด และให้บริการในการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้า จำนวนเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 76.50 ล้านบาท
- ปี 2564 ซื้อหุ้น บริษัท ไฮ ช็อปปิ้ง (HS) ผู้ทำธุรกิจผลิตรายการทีวีแนะนำ และขายสินค้าหลายช่องทาง ได้แก่ (1) ช่องนำสัญญาณผ่านระบบดาวเทียม (2) ระบบเคเบิ้ล (3) ระบบดิจิทัล (4) ระบบเครือข่ายโทรคมนาคมอื่นๆ
- ล่าสุดปี 2565 เข้าซื้อกิจการของ Miss Universe Organization ซึ่งเป็นผู้จัดประกวดนางงามจักรวาลของสหรัฐ จำนวน 800 ล้านบาท กลายเป็นเจ้าของใหม่ของ นางงามจักรวาล ที่สามารถจัดประกวดนางงามแบบครบวงจรได้ทั่วโลก
ดังนั้น การลงทุนหนักเกินไปอย่างต่อเนื่อง สวนทางผลตอบแทนยังเข้ามาไม่มีนัยสำคัญ สุดท้ายสภาพคล่องของธุรกิจก็ถูกฉุดรั้งลดลงไปเรื่อยๆ และการผิดนัดชำระหุ้นกู้ครั้งนี้ เป็นตัวเฉลยปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายในองค์กรแห่งนี้ ซึ่งไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ว่ากระทบต่อ “ความเชื่อมั่นของนักลงทุน” เต็มๆ !!