หุ้นกู้ 23 รุ่นเบี้ยวหนี้เฉียด 2 หมื่นล.‘กูรู’ แนะก่อนซื้อไม่ดูแค่ดอกเบี้ย
เปิดโผ หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ 7 บริษัท จำนวน 23 รุ่น รวมมูลค่ากว่า 19,039.96 ล้านบาท กูรู แนะนักลงทุนก่อนซื้อไม่ดูแค่ดอกเบี้ย พิจารณาข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น
หลังจากหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นหุ้นกู้ประเภท High Yield หรือที่มีเรตติ้ง BB+ ลงไปจนถึงไม่มีการจัดเรทติ้ง อย่าง STARK และ ALL และ ล่าสุด JKN ที่ครบกำหนดวันนี้ (1 ก.ย.66) แต่บริษัทขอชําระเงินต้นบางส่วนที่ 156 ล้านบาท และคงเหลือยอดค้างชําระ 443 ล้านบาท ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ และกังวลต่อสภาพคล่องที่ดูแล้วจะตรึงตัว
อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า ณ ขณะนี้หุ้นกู้ที่มีการ Default ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน แบ่งเป็น ALL ประมาณ 2,300 ล้านบาท STARK ประมาณ 9,200 ล้านบาท
ล่าสุด JKN ออกหุ้นกู้มาประมาณ 3,300 ล้านบาท แต่ที่เพิ่งมีปัญหากับรุ่น JKN239A ประมาณ 600 ล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าเป็นในปีนี้จะมี 3 บริษัท แต่ก็ยังมีของเก่าที่ยัง Default ตั้งแต่ก่อนโควิด -19 โดยทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รวมกับ JKN ที่ 600 ล้านบาท ที่มีการครบกำหนดในวันนี้ (1 ก.ย.66) และไม่สามารถจ่ายได้ ขณะที่มีอีกกลุ่มที่มีการยืดหนี้ไปด้วย
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นกู้มีการ Slowdown มาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งจะเห็นตั้งแต่ ALL ที่มีปัญหา ซึ่งตลาด High Yield Bond ได้รับผลกระทบความเชื่อมั่นสำหรับนักลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ออกที่เป็น High Yield Bond หลาย ๆ ราย ขายได้ไม่หมด ขายได้ไม่เต็มวงเงิน ซึ่งก็รวมไปถึง JKN ด้วยที่มีการเปิดขายตั้งแต่ต้นปี มูลค่า 400 ล้านบาท แต่สามารถขายออกไปได้แค่ 156 ล้านบาท เป็นการสะท้อนถึงว่า กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนมีความระมัดระวังมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ตลาด High Yield Bond เน้นขายไปที่บุคคลที่เป็นรายใหญ่ แต่ที่เป็นตลาด Investment Grade ที่มีเรทติ้งสูงตั้งแต่ A ขึ้นไป ไม่ได้รับผลกระทบ ตรงกันข้ามกลับมีดีมานด์เข้าไปซื้อมากขึ้น เพราะจะเห็นว่า ในช่วง 8 เดือนแรก การออกหุ้นกู้ได้ถึงประมาณ 720,000 ล้านบาท เฉลี่ยแต่ละเดือนตกอยู่ประมาณ 90,000 ล้านบาท
“ปีที่แล้วถึอเป็นปี all time high ขณะที่ปีนี้ลดลงมากว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 15% แต่ก็ยังถือว่า เป็นเรตที่อยู่ในระดับสูงอยู่ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งสูง ๆ ที่ยังมีการออกอยู่ และยังได้รับการตอบรับที่ดี”
อริยา ได้บอกด้วยว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวยังไม่ได้มีการฟื้นกลับขึ้นไป ฉะนั้นบริษัทที่มีสายป่านไม่ยาว บริษัทขนาดกลาง - ขนาดเล็ก ถ้านักลงทุนที่จะเลือกเข้ามาลงทุนต้องมีการศึกษาให้ดี มากกว่าที่จะดูอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่นักลงทุนต้องมีการทำการบ้านพิจารณาเรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออก แม้ว่าแต่ละครั้งที่ออกหุ้น ก.ล.ต.จะให้มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นหลักแล้วก็ตาม เช่น ดูความสามารถในการชำระหนี้ อัตราส่วนสภาพคล่อง อัตราส่วนรายได้เพียงพอที่จะควบคุมดอกเบี้ยจ่ายในแต่ละปีหรือไม่
แม้แต่ผู้บริหารเองก็ต้องพิจารณาว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือบริษัทที่มีประวัติที่หวือหวาก็ต้องดูอย่างรอบครอบ เพราะบางบริษัทอาจจะมีการเน้นการเติบโต มีการลงทุนมาก ๆ ถ้าพิจารณาเป็นหลักทรัพย์การลงทุนในหุ้น ๆ ตัวนั้นอาจจะมีศักยภาพที่มีการเติบโตสูง และสภาพคล่องเป็นอย่างไร เพราะการถือหุ้นกู้นักลงทุนมีความคาดหวังว่า บริษัทจะต้องมีสภาพคล่องที่จะสามารถมาจ่ายชำระคืนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นได้ และที่สำคัญนักลงทุนต้องมีการกระจายการลงทุนด้วย
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หุ้นกู้ที่มีปัญหาในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า สตอรี่แต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันออกไป อย่าง STARK เป็นเรื่องของการเข้ามาโกงทุจริตโดยตรง ขณะที่ ALL จะได้รับผลกระทบจากภาคเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา บวกกับการทำธุรกิจที่มีปัญหา
ส่วน JKN ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกันแต่อาจจะไม่มาก ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วแต่ละบริษัทไม่ได้รับผลกระทบในเชิงโครงสร้างแต่เป็นการค่อย ๆ ส่งสัญญาณว่า สภาพคล่องค่อย ๆ หายไป และเริ่มมีการกระจายไปในหลายกลุ่มธุรกิจที่จะมีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องจากเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี
“ส่วนตัวอย่างแรกสิ่งที่สำคัญถ้านักลงทุนชอบการลงทุนในลักษณะนี้ 1. ต้องมีการกระจายหรือบริหารความเสี่ยง เข้าไปดูให้ลึกในรายบริษัท และไม่นำเงินทั้งหมดที่มีอยู่ไปใส่ในหุ้นกู้แบบนี้ แม้ว่าจะเห็นว่าในช่วงแรกดีขนาดไหนก็ตาม ก็จะทำให้ไม่บาดเจ็บมาก 2. เทรนด์ของยีลด์ที่มีการปรับตัวขึ้นมา ต้องดูว่า กลุ่มธุรกิจไหนในอนาคตจะต้องมีการเงินทุนเยอะ ๆ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องรีบลงทุน เพราะสักพักอาจจะมีการออกหุ้นกู้ออกมาใหม่ ให้ยีลด์ที่สูงขึ้น แต่ถ้าเป็นหุ้นกู้กลุ่มธรรมดาที่มีพื้นฐานดี ออกตลอดก็สามารถเข้าเก็บได้เลย และ 3. ถ้านโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่ได้ชัดเจนและยังเป็นด้านลบกับตลาดตราสารหนี้ หรือเป็นลบกับสภาพคล่องอาจจะต้องไม่เป็นต้องรีบร้อนเข้าไปลงทุน”
ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่า หุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) ณ 1 ก.ย.66 มีอยู่ทั้งหมด 7 บริษัท จำนวน 23 รุ่น รวมมูลค่ากว่า 19,039.96 ล้านบาท
1.บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL จำนวน 7 รุ่น รวมมูลค่าหนี้คงค้าง 2,334.20 ล้านบาท ได้แก่
- ALL252A มูลค่าคงค้าง 251.60 ล้านบาท
- ALL232A มูลค่าคงค้าง 111.90 ล้านบาท
- ALL235A มูลค่าคงค้าง 631.90 ล้านบาท
- ALL220A มูลค่าคงค้าง 80.70 ล้านบาท
- ALL230A มูลค่าคงค้าง 380.00 ล้านบาท
- ALL242A มูลค่าคงค้าง 168.20 ล้านบาท
- ALL244A มูลค่าคงค้าง 709.90 ล้านบาท
2.บมจ.เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ APEX จำนวน 1 รุ่น
- APEX202A มูลค่าคงค้าง 765.00 ล้านบาท
3.บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป หรือ ACAP จำนวน 7 รุ่น รวมมูลค่าหนี้คงค้าง 2,575.38 ล้านบาท ได้แก่
- ACAP202A มูลค่าคงค้าง 395.30 ล้านบาท
- ACAP207A มูลค่าคงค้าง 716.10 ล้านบาท
- ACAP209A มูลค่าคงค้าง 196.50 ล้านบาท
- ACAP190A มูลค่าคงค้าง 668.68 ล้านบาท
- ACAP20NA มูลค่าคงค้าง 294.10 ล้านบาท
- ACAP212A มูลค่าคงค้าง 229.80 ล้านบาท
- ACAP213A มูลค่าคงค้าง 74.90 ล้านบาท
4.บริษัท เดซติเนชั่น โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด หรือ DR จำนวน 1 รุ่น
- DR212A มูลค่าคงค้าง 557.00 ล้านบาท
5.บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC จำนวน 1 รุ่น
- IFEC17NA มูลค่าคงค้าง 3,000 ล้านบาท
6.บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN จำนวน 1 รุ่น
- JKN239A มูลค่าคงค้าง 609.98 ล้านบาท
7.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK จำนวน 5 รุ่น รวมมูลค่าหนี้คงค้าง 9,198.40 ล้านบาท ได้แก่
- STARK239A มูลค่าคงค้าง 1,291.50 ล้านบาท
- STARK242A มูลค่าคงค้าง 3,934.30 ล้านบาท
- STARK245A มูลค่าคงค้าง 1,701.10 ล้านบาท
- STARK249A มูลค่าคงค้าง 949.50 ล้านบาท
- STARK255A มูลค่าคงค้าง 1,322 ล้านบาท