ปรับโฉม‘ตลาดทุนไทย’ เปิดกว้างโรบอทเทรดดึงเงินลงทุน
โจทย์ใหญ่ของ “การพัฒนาเศรษฐกิจไทย” ในระยะยาวของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ทุกคนกำลังจับตามองนั้นคือ จะทำอย่างไรให้ “ตลาดทุนไทย” กลับมามี “เสน่ห์แบบไร้กังวล” ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ทั้งจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยกลับมา
ต้องยอมรับว่า10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ปี2556-2566) โฉมหน้าของ "ตลาดทุนไทย" เปลี่ยนแปลงไป เหลือเพียง"เสน่ห์ที่เป็นบุญเก่า" นั้นคือ “ต้นทุนต่ำ สภาพคล่องสูง" ที่ยังเป็นอันดับ1ในภูมิภาคอาเซียน
แต่นี่กลับกลายเป็นเสน่ห์ที่น่ากังวลในระยะข้างหน้าของตลาดทุนไทย เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และมีทางเลือกการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ที่นักลงทุนสามารถแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอด10 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างตลาดทุนไทยมีบทบาทมากขึ้นในระบบการเงินไทยและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย แต่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยเป็นขาลงต่อเนื่อง สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยกำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเช่นกัน
จากผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของตลาดหุ้นไทย ย้อนหลัง 20 ปี ดัชนีหุ้นไทย(SET)มีผลตอบแทน 22% และ MSCI world 19% ,ย้อนหลัง 10 ปี SET มีผลตอบแทน 5% และ MSCI world 14% , ย้อนหลัง 5 ปี SET มีผลตอบแทน1% และ MSCI world 10%
ส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS)ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทรงตัว หรือไม่เติบโต และค่าเฉลี่ย ROE ของบริษัทจดทะเบียนไทย(บจ.) ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นกันจาก 12.7% มาอยู่ที่ 8.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบจ.ในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในธุรกิจดังเดิม (Old Economy) ได้แก่ พลังงาน และธนาคารพาณิชย์ แม้จะมีธุรกิจใหม่เพิ่มอย่าง คอมเมิร์ซ สะท้อนว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ปรับตัวตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างในตลาดหุ้นสหรัฐส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเทคโนโลยี
รวมถึงโครงสร้างนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งพฤติกรรมของนักลงทุนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนต่างประเทศ ทยอยลดสัดส่วนถือหุ้นไทย เหลือเพียง 28% จากเดิมมีสัดส่วน 46% ที่เหลือสัดส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อยและผู้ถือหุ้นใหญ่ 62% เพิ่มขึ้นจากเดิม 39% และนักลงทุนสถาบันในประเทศ 10% เพิ่มขึ้นจากเดิม 7%
ในขณะเดียวกัน "เทคโนโลยี" เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการซื้อขายของตลาดหุ้นไทย พบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหุ้นแบ่งตามประเภทผู้ลงทุนไตรมาส 1 ปี 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติที่ส่งคำสั่งผ่าน Program Trading คิดเป็น 34%ของมูลค่าซื้อขายรวมของตลาด โดยเป็น Non-HFT 23% และ HFT 11 % ทั้งนี้ ผู้ลงทุนต่างชาติ ที่ใช้ Program Trading ซื้อขายหุ้นกระจุกตัวในกลุ่ม SET 50 ประมาณ 70% และผู้ลงทุนรายย่อย ซื้อขายหุ้นขนาดกลางและเล็ก เป็นหลัก ประมาณ 50-60%
พิพัฒน์ มองว่า Algo Tranding มีผลกระทบต่อตลาดทุนไทยจำกัด เฉพาะนักลงทุนบางประเภท ที่ใช้กลยุทธ์เทรดระยะสั้นเหมือนกับ Algo/HFT และผู้ออกตราสารบางประเภท รวมถึงความเสี่ยงต่อระบบจากโมเดลคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ได้กระทบต่อนักลงทุนรายย่อยทั่วไปที่ลงทุนระยะยาว อีกทั้งยังเพิ่มสภาพคล่อง เพิ่มประสิทธิภาพของตลาด และลดความผันผวนระยะสั้น เพราะแน่นอนว่า หน่วยงานกำกับดูแลใช้หลักการและมาตรฐานเดียวกันในการกำกับและตรวจสอบธุรกรรมทุกประเภทอยู่แล้ว
ดังนั้น ความท้าทาย เศรษฐกิจไทยระยะต่อไป คือ โจทย์ใหญ่ที่ต้องพลิกโฉมหน้า “ตลาดทุนไทย” ที่ปัจจุบันมีจุดเด่นด้าน สภาพคล่องสูง ต้นทุนต่ำ เพียงแต่ยังขาดฟังก์ชั่นที่ดี สร้างเสน่ห์ใหม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ด้วยการเปิดกว้างการใช้เทคโนโลยีในการซื้อขายหุ้น เป็นกลไกการตั้งราคาที่แฟร์ที่สุด ต้นทุนต่ำทั้งเข้าและออก และเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง สร้างเสน่ห์ใหม่ดึงดูดเม็ดเงินกลับมาตลาดหุ้นไทย แต่ก็ต้องมาพร้อมกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย ที่จะหาอุตสาหกรรมแชมป์เปียน ดึงดูดเม็ดเงินและการลงทุนใหม่ การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศและอุตสาหกรรมไทย พัฒนาคุณภาพคนไทย และสร้างความมั่งคั่งให้ กินดีอยู่ดี
ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่าย KKP Research บล. เกียรตินาคินภัทร มองว่า 3โจทย์ใหญ่ที่จะต้องพลิกโฉมตลาดทุนไทย คือ 1.นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น จีดีพีชะลอ ผลตอบแทนหุ้นไทยชะลอ 2. นักลงทุนยังรอความชัดเจนนโยบายรัฐบาลใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยระยะยาว 3.นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นเรื่องธรรมาภิบาลในตลาดหุ้นไทย
"แต่ยังต้องติดตามความชัดเจนว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะมีนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยระยะยาวอย่างไร สนับสนุนอุตสาหกรรมอะไรที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับคนไทย รอความชัดเจนของภาพรวมที่เชื่อมโยงตลาดหุ้นไทย ว่าจะมีมาตรการเข้มงวดในเรื่องธรรมภิบาลการลงทุนอย่างไร เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาสู่ตลาดหุ้นไทย"