มติลดค่าไฟ-ค่าน้ำมัน ส่งผลลบต่อหุ้นกลุ่มโรงกลั่น โรงไฟฟ้า จริงหรือไม่?
ประชุม ครม. นัดแรก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ลดค่าไฟฟ้า และลดราคาน้ำมันดีเซล โบรกแนะทยอยสะสมหุ้นกลุ่มโรงกลั่นเมื่อราคาอ่อนตัวลงมา
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเชีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก 13 ก.ย. 66 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้แถลงผลการประชุมครม. เบื้องต้น ดังนี้
1. จัดตั้งคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติครบ 6 รอบ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน ปี 2567
2. แก้ปัญหาความเห็นต่าง ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เห็นชอบให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ รับผิดชอบ แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ
3. วีซ่าฟรี ชั่วคราว ยกเลิกการขอเข้าเดินทางมาไทยของจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 66 –29 ก.พ. 67
4. ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power
5. พักหนี้เกษตรกร และธุรกิจขนาดเล็ก(SME) เป็นเวลา 3 ปี
6. เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบเป็นเดือนละ 2 รอบ คาดเริ่ม 1 ม.ค. 66
7. ลดค่าไฟฟ้า เป็น 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จาก 4.45 บาท เริ่มรอบบิล ตั้งแต่ ก.ย.66-สิ้นปี
8. ลดราคาน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เริ่ม 20 ก.ย.66-สิ้นปี
ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่เน้นไปที่การช่วยเหลือภาคประชาชน ลดค่าครองชีพเป็นหลัก ทั้งการลดค่าไฟฟ้า และน้ำมันดิบ ซึ่งมองผิวเผินจะส่งผลลบต่อหุ้นกลุ่มโรงกลั่น-โรงไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯจะมาจำแนกให้ดูว่า ทั้ง 2 กลุ่มโดนผลกระทบจริงๆ หรือไม่
เริ่มจากการปรับลดราคาน้ำมันดีเซล เป็นการปรับลดผ่านการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันภาครัฐจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 5.99 บาท/ลิตร ดังนั้น ภาครัฐยังสามารถใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นกลไกในการช่วยให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงเหลือไม่เกิน 30 บาท/ลิตรได้ โดยไม่กระทบต่อกลุ่มโรงกลั่น หรือผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันแต่อย่างใด จะกระทบเพียงภาครัฐที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจะลดลงเท่านั้น ดังนั้น แนะนำทยอยสะสมหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นเมื่อราคาอ่อนตัวลงมา หรือเข้าใกล้แนวรับสำคัญทางเทคนิค ชอบ PTT PTTEP TOP SPRC
ส่วนต่อมา คือ การลดค่าไฟฟ้า ซึ่งยังต้องรอสรุปอย่างเป็นทางการว่าแนวทางการปรับลดค่าไฟครั้งนี้ จะใช้วิธีการใด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดเนื้อข่าวที่แน่ชัด ฝ่ายวิจัยฯจึงจำแนกออกเป็น 2 วิธีที่สามารถเกิดขึ้นได้
1.หากรัฐบาลสามารถใช้วิธีการยืดการชำระหนี้ให้แก่ กฟผ. ออกไป อาจส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่มีสัดส่วนขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมค่อนข้างสูงอย่าง GPSC (สัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมราว 30% ของรายได้รวม) , BGRIM (สัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมราว 27% ของรายได้รวม),GULF (สัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมราว 13% ของรายได้รวม)
2.หากใช้วิธีการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หรือ 500 หน่วย/เดือน จะไม่มีผลกระทบต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมครม.นัดแรก มีนโยบายออกมามากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่การช่วยเหลือภาคประชาชน ลดค่าครองชีพเป็นหลัก ขณะที่ระยะถัดไปเตรียมผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนให้เศรษฐกิจตั้งแต่ 2H66 เติบโตเป็นขั้นบันได