ไล่จับกลทุจริต STARK จากงบการเงินถึงคดี
มากกว่า 6 เดือนกลทุจริต บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ยังลึกได้ไม่หมดหลังตรวจสอบงบการเงินพิเศษ หรือ Special Audit และส่งรายการตั้งแต่เดือนพ.ค. และถูกเลื่อนตลอดจน 29 ก.ย. เปิดรายการทุจริตครั้งใหญ่สุดในตลาดหุ้นไทยอย่างเป็นทางการ
โดยก่อนหน้านี้เกิดการ ” รื้อระบบ” ครั้งใหญ่ใน "ตลาดทุน" หลังต้องสังเวยความเสียหายระดับหมื่นล้านบาทไปกับ STARK ทั้งผู้สอบบัญชี – ก.ล.ต.- ตลท. – กองทุน - บริษัทเครดิตเรตติ้ง และที่เป็นระเบิดลูกใหญ่ที่พาแตกกระจายไปตามๆ กันคือ ตลาดตราสารหนี้ อย่างหุ้นกู้ ที่เผชิญความไม่เชื่อมั่นแม้จะให้ดอกเบี้ยสูงปรี๊ด 7% เพราะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ตามมาอีกหลายเคส
การตรวจสอบการซื้อขาย และการรับหลักทรัพย์ทั้งไอพีโอ และทางอ้อม (Backdoor Listing) ที่จะไม่ง่ายดายอีกต่อไป โดยเฉพาะการตรวจสอบสัญญาณจากข้อมูลต้องเปิดเผยด้วยการเพิ่มระบบตรวจจับการซื้อขายที่ผิดปกติ และรายงานข้อมูลของ บจ. ให้นักลงทุนใช้การตัดสินใจลงทุน และประเมินความเสี่ยงก่อน
ยิ่งกรณีมีการซื้อขายหุ้นกระจุกตัว มีกระแสข่าว แต่สอบถามไป ยังเป็นรายงานไม่มีอะไรใหม่ สวนทางปริมาณซื้อขายเพิ่มหรือราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไปมากจะถูกสั่งให้อธิบายส่วนนี้ให้นักลงทุนได้ข้อมูลเพิ่มเติม
แรงกระเพื่อมเหล่านี้ถือว่ายกสเต็ปการป้องปรามลดช่องโหว่การทุจริตให้ได้มากที่สุด เพราะเคส STARK แสดงให้เห็นแล้วว่า “ จงใจมาทุจริต” ผ่านกระบวนการคิดการกระทำเป็นขั้นตอน "เพื่อผ่องถ่ายเงินออกไป"
ตาม Special Audit ได้โยงจาก STARK และ Non STARK ผ่านเส้นทางการเงินที่เข้า และออก 24,000 ล้านบาท เริ่มจาก STARK ที่ตามเส้นทางการเงินออกหุ้นกู้ 6 ชุด รวมจำนวน 10,698.40 ล้านบาท นำเงินไปใช้บันทึกรายการรับ-จ่ายเงินระหว่างบริษัท และบริษัทย่อยที่ผิดปกติ รายการจ่ายเงินที่ไม่ตรงกับใบแจ้งหนี้ผ่านการให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อย “เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล” “ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล”
ส่วนเงินเพิ่มทุน PP นำไปชำระ Letter of credit สำหรับเจ้าหนี้การค้าเพื่อซื้อวัตถุดิบจำ นวน 4,071 ล้านบาท และชำระคืนหุ้นกู้ ชุดที่ 3 (STARK23206A) พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 1,509 ล้านบาทในปี 2566
เส้นทางเงินลงมายัง “เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล” เป็นรายการที่บันทึกไม่เกิดขึ้นจริง หรือ ธุรกรรมที่ไม่ตรงกับรายการที่เกิดขึ้นจริง เช่น สั่งซื้อวัตถุดิบไม่มีการโอนเงินให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันเพื่อซื้อวัตถุดิบที่ไม่ได้มีการซื้อ-ขายเกิดขึ้นจริง หรือกู้ยืมที่ไม่มีการบันทึกรายการเงินให้กู้ยืม ซึ่งมีมากกว่า 200 รายการ โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมมากกว่า 8,000 ล้านบาทในปี 2565 และมากกว่า 4,000 ล้านบาทในปี 2564
ถัดมา “ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล” การขายแต่ไม่มีหลักฐานการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าและมีรายการรับชำระเงิน มูลค่ารายการมากกว่า 3,000 ล้านบาท และบันทึกสินค้าคงเหลือจากรายการข้างต้นมูลค่ารวมมากกว่า 2,000 ล้านบาท
และ “อดิสรสงขลา ” มีรายได้ค้างรับลูกหนี้การค้าที่ไม่มีหลักฐานประกอบรายการ บันทึกต้นทุนค่าแรงและต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีหลักฐานทำให้เกิดการรับรู้รายได้ค้างรับสูงกว่าความเป็นจริงมากกว่า 600 ล้านบาทในปี 2564 และมูลค่ามากกว่า 200 ล้านบาทในปี 2565 และมีลูกหนี้การค้า ที่สูงกว่าความเป็นจริงมากกว่า 800 ล้านบาทในปี 2565
รายงานดังกล่าวถูกรวมไปในการไต่สวนของศาลเพื่อดำเนินคดี ซึ่งศาลแพ่งใต้ได้นัดไต่สวน 6 ก.ย.2566 แต่ต้องเลื่อนไต่สวนออกหลังผู้เสียหายยื่นฟ้อง 5 กรรมการ STARK มูลค่า 9 พันล้านยังไม่เป็นแนวทางเดียวกัน และจำเลยไม่พร้อมจึงให้หารือกันก่อนนัดอีกที 27 พ.ย.2566
ความผิด - ความเสียหายที่เกิดขึ้นปรากฏหลักฐานแน่นหนา และมีความชัดเจน ขนานไปกับกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนอนาคต STARK ยังคงมืดสนิทไปอีกนาน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์