ก.ล.ต. สั่ง STARK ส่ง Special Audit ขีดเส้นตาย 29 ก.ย.66
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการให้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)ให้นำส่งรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ ภายในวันที่ 29 กันยายน 2566
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งการให้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ส่งรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (extended-scope special audit) ภายในวันที่ 29 กันยายน 2566 ตามที่ขอมา พร้อมทั้งให้เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย
ตามที่ STARK ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ขอขยายระยะเวลาเพื่อดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษเพิ่มเติมเป็น ครั้งที่ 2 โดยขอนำส่งรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษเป็นภายในวันที่ 29 กันยายน 2566*
เนื่องจากมีความล่าช้าในการจัดเตรียมข้อมูลและการขอเอกสารรายการเดินบัญชี (bank statement) เพื่อให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ นั้น ก.ล.ต เห็นว่ารายงานผลตรวจสอบดังกล่าวเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่ต้องนำส่ง ก.ล.ต. และต้องเปิดเผยต่อผู้ถือหลักทรัพย์ของ STARK โดยเร็ว
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดในการรวบรวมเอกสาร และใช้เวลาในการขอเอกสาร bank statement เพิ่มเติมเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของ STARK ก.ล.ต. จึงสั่งการให้ STARK นำส่งรายงานผลการตรวจสอบ special audit ภายในวันที่ 29 กันยายน 2566** ตามที่ขอมา
แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมากรรมการของ STARK ลาออก และได้รับการแต่งตั้งใหม่จำนวนหลายราย ก.ล.ต. จึงกำหนดเงื่อนไขให้ STARK ต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ซึ่งรวมถึงการแสดงหนังสือรับรองกระทรวงพาณิชย์ที่มีข้อมูลกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทที่เป็นปัจจุบันด้วย
ทั้งนี้ เมื่อ STARK นำส่งผลการตรวจสอบ special audit แล้วให้เปิดเผยผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ไปพร้อมกัน
ในการตรวจสอบกรณี STARK*** ก.ล.ต. พิจารณาข้อเท็จจริงจากหลายส่วนประกอบกัน ไม่เพียงเฉพาะรายงานผลการตรวจสอบ special audit เท่านั้น
_______________________
หมายเหตุ :
* ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 126/2566 เรื่อง “STARK นำส่งรายงานความคืบหน้าของการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ พร้อมขอขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 2” https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=10040
** กรณีที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ไม่สามารถจัดทำรายงานได้ภายในระยะเวลาที่ ก.ล.ต. ผ่อนผันให้ จะถือเป็นความผิดตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีบทลงโทษตามมาตรา 274 กล่าวคือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 3,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
*** ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 116/2566 เรื่อง “ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคลรวม 10 ราย ต่อ DSI กรณีตกแต่งงบการเงินของ STARK เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง” https://www.sec.or.th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=10024
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์