กลต.-ตลท. ชี้ไร้ ‘ต่างชาติทำชอร์ตเซล-เอไอ' ทุบหุ้นไทย พบในหุ้นเล็กจาก นลท.
ก.ล.ต. จับมือ ตลท. เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน กางข้อมูลจริงไร้ “ต่างชาติทำชอร์ตเซล –ใช้โปรแกรมเทรด" ทุบหุ้นไทย แย้มพบในหุ้นขนาดเล็กจากนักลงทุนบางกลุ่ม ฟากดัชนีฯ ร่วงแรงตาม Sentiment ไม่เอื้อ
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปริมาณการชอร์ตเชลหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีสัดส่วนเพียง 5.6% มูลค่าซื้อขายทั้งหมด ใกล้เคียงกับก่อน ซึ่งจากการติดตามของ ก.ล.ต.เกี่ยวกับการทำชอร์ตเซลและโปรแกรมเทรดว่าเกิดการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือซ้ำเติมภาวะตลาดทำให้ Sentiment ของตลาดหุ้นเสียไปหรือไม่ พบว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด YTD ปีนี้จะพบว่ามีสัดส่วนอยู่ 5.6% ใกล้เคียงกับปีก่อน
ทั้งนี้ หากเทียบกับมูลค่าการซื้อขายของปีก่อนที่ภาวะตลาดดีกว่าปีนี้ การทำชอร์ตเซล มูลค่าแทบไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ยังทรงตัวเหมือนเดิม ขณะที่แยกตามประเภทของหลักทรัพย์ที่เกิดการชอร์ตเซล ไม่ว่าจะเป็นหุ้น กลุ่ม SET50 ไปจนถึงหุ้นขนาดเล็ก พบว่ายังมีสัดส่วนอยู่ในระดับเดิม อย่างไรก็ดีอาจมีอยู่บ้างที่มีความแตกต่างเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญ เช่น การทำชอร์ตเซลผ่าน ETF เป็นต้น
โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ หรือกลุ่มกลางที่เปิดให้ทำชอร์ตเซลแบบมีเงื่อนไข คือมีเกณฑ์ให้ทำในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายล่าสุด และห้ามการทำ Naked ชอร์ตเซล ไม่ว่าจะโปรแกรมเทรดดิ้งหรือซื้อขายปกติ ต้องมีหุ้นก่อน หรือยืมหุ้นมาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดส่งมอบ ด้วยกลไกที่มีอยู่ทำให้เราต้องมั่นใจว่าสามารถห้ามได้และเอาผิดได้ Naked ชอร์ตเซลได้
ส่วนกรณีของเกาหลีใต้ที่ห้ามทำชอร์ตเซล 6 เดือน ในรายละเอียดเขาใช้เพื่อเอาเวลาช่วงนี้ไปสอบทานการทำ Naked ชอร์ตเซลที่ผิดกฎหาย แต่เราไม่จำเป็นต้อง Ban เพราะเราสอบทานเป็นปกติอยู่แล้ว เรามั่นใจในกลไกการสอบทาน และเรายังไม่เห็นการทำชอร์ตเซลจะกลายเป็นผลลบมากกว่าบวก
“ยอมรับว่าข่าวที่เข้ามาไม่จำเป็นต้องมีแต่ข่าวดี เช่น สงครามส่งผลต่อคาดการณ์ราคาพลังงานสูงขึ้น ส่งผลต่อผลประกอบการ บจ. เป็นข่าวที่ต้องปรับราคา เมื่อไหร่ที่ตลาดไม่มีชอร์ตเซล จะกลายเป็นการอั้นการปรับราคา ไม่เป็นไปตามกลไก แต่ถ้าการทำชอร์ตเซลเป็นการชี้นำราคา ซื้อขายผิดปกติ หรือทุบหุ้น กลไก Enforce ต้องตามมา แต่ไม่ใช่เราปิดประตู”
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ไม่พบสัญญาณการทำชอร์ตเซลในนักลงทุนต่างชาติและโปรแกรมเทรดอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากปริมาณชอร์ตเซล ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณเท่าเดิม แต่เนื่องจากวอลุ่มลดลง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้เปอร์เซ็นต์จึงสูงขึ้นมาในระดับ 5.6% จากปีก่อน 5.4% และโปรแกรมเทรดดิ้งก็เช่นกัน
แต่ยอมรับพบสัญญาณนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ ทำชอร์ตเซลโดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มขนาดเล็ก ดังนั้น สิ่งที่ตลาดจะเร่งดำเนินการคือการหาผู้กระทำความผิด เพื่อมาลงทุนในขั้นตอนฟ้องร้อง และดำเนินการเปิดเผยข้อมูลให้เร็วที่สุด
ส่วนประเด็นของ High Freqeuncy Trading (HFT) ซึ่งเป็น Algorithm Trading มีสัดส่วนเพียง 10% ของวอลุ่มการซื้อขาย และยังมีกลุ่มที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งประเภท Non-HFT ที่ไม่ได้ใช้ความเร็วราว 24% และที่เหลือไม่ได้ใช้โปรแกรมอัตโนมัติ แต่ใช้ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์หรือราว 16% จึงอย่าไปมองว่านักลงทุนต่างชาติใช้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติด้วยความเร็วทำให้ตลาดหุ้นตก เพราะเพียงสัดส่วน 10% จะมา push ตลาดได้อย่างไร
นอกจากนั้นกลุ่ม HFT และ Non-HFT ส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์การเลือกสรรหุ้นโฟกัสในหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงในกลุ่ม SET50 หรือ SET 100 ไม่ได้สนใจซื้อหุ้นเล็ก แต่คนที่เข้ามาลงทนในหุ้นเล็กส่วนใหญ่คือนักลงทุนรายย่อยในไทย รวมทั้งเมื่อมีการขายหุ้นออกมาทั้งตลาด นักลงทุนทุกกลุ่มก็ขายเหมือนกันหมด ไม่ใช่แค่ HFT หรือ โปรแกรมเทรดดิ้ง
“ยิ่งไปกว่านั้น HFT ไม่ได้เป็นการขาย ส่วนมีใครเอา HFT มาทำช็อตเซลหรือไม่ เราตามข้อมูลเป็นตัว ๆ ไม่ใช่แบบนั้น แต่ sentiment ไม่ได้ ฟันด์โฟลว์ไหลออก อย่าไปหาแม่มดเลย มีหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น” นายภากรกล่าว
ส่วนประเด็นทำไมหุ้นไทยยังลงอย่างต่อเนื่อง เป็นคำถามที่ต้องดูว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ คือตัว Reading Indicator ของอะไร ต้องบอกว่าเป็นเศรษฐกิจในประเทศ ถ้าต่างชาติมองว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ก็จะสะท้อนความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศ ต่อตอนนี้ทำไมเขามองแบบนั้น ทำไมเขามองว่าดัชนีจะไม่ขึ้น ทั้งที่บริษัทจดทะเบียนของไทยยังมีความสามารถในการทำกำไรได้ ถ้าเราแสดง Potential ของเศรษฐกิจไทย และบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยได้ Sentiment ก็จะเปลี่ยนไป อยู่ที่นักวิเคราะห์ต้องช่วยกัน
และในปีนี้จะเป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในแง่ของการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานในด้านต่าง ๆ ทุกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น