ศาลล้มละลายฯ รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ JKN นัดไต่สวน 29 ม.ค.67
JKN เผยศาลล้มละลายฯ รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท โดยนัดไต่สวน 29 ม.ค.67 ด้านตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย C วันที่ 13 พ.ย.66 นี้
นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่บริษัท ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม) ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นั้น ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย C หุ้น JKN ในวันที่ 13 พ.ย.66 เนื่องจากศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว
สืบเนื่องจากช่วงเช้าวันที่ 9 พ.ย.66 JKN รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2566 มีมติอนุมัติให้ บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ (ยื่นล้มละลาย) และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม)
บริษัทขอเรียนชี้แจงสรุปสาระสำคัญของคำร้องฟื้นฟูกิจการ ดังนี้ 1. บริษัทในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง 2. บริษัทเสนอ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผน 3. แนวทางของแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น ดังนี้
1. การปรับโครงสร้างกิจการและโครงสร้างทางการเงิน ให้สอดคล้องกับสมมติฐานทางการเงิน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนแก้ไขปัญหาของกิจการในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท รวมถึงการปรับโครงสร้างภายในองค์กร
2. การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การผ่อนผันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างรายรับจากการประกอบกิจการ และนำมาจัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน และบริษัทยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้
3. การได้รับเงินสนับสนุนทางด้านการเงินจากแหล่งเงินทุน โดยได้รับจากผู้ลงทุนรายใหม่ หรือสถาบันการเงินเพื่อเป็นการหมุนเวียนในกิจการของบริษัท
4. การจัดหาแนวทางการดำเนินการขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือก่อให้เกิดรายได้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
5. การจัดเตรียมแผนงาน และกลยุทธ์ในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และการปรับปรุงระบบ โครงสร้างภายในองค์กร และการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับ และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม
อีกทั้ง บริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกำไร จากการดำเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง โดยบริษัทจะแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์