ก.ล.ต.เปิดวงถก naked short โบรกงัดมาตรการสกัดสุดโต่ง
วาระใหญ่และขึ้นแท่น Hot Issue ส่งท้ายปีตลาดหุ้นไทย คือ ตามล่า naked short sell ที่ได้สัญญาณจากนายกฯ ว่า “เท่าที่ได้รับรายงานเข้าใจว่ามี Naked Short เกิดขึ้นจริงได้ฝากไปยังหน่วยงานว่าต้องเอาจริง เอาจัง แก้ไขให้ได้ “ สวนทางกับการชี้แจง ก.ล.ต.- ตลท. ไม่พบธุรกรรมดังกล่าวในช่วงก่อนหน้านี้
การแถลงข่าวแบบวันเว้นวันของ ตลท. และ ก.ล.ต. ต้องมีการส่งหนังสือเรียกประชุมด่วนธุรกิจโบรกเกอร์ และ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ วันที่ 27 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นการบ่งบอกสัญญาณได้ชัดเจนว่าประเด็นดังกล่าวมีช่องโหว่เกิดการเอาเปรียบนักลงทุนกลุ่มอื่นอย่าง “รายย่อย”ในตลาดหุ้นไทย
วงถกระหว่าง ก.ล.ต. และโบรกเกอร์พูดคุยกันนานเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ในเรื่องดังกล่าวทั้งข้อสังเกตจากหน่วยงานกำกับก.ล.ต. และฝ่ายปฎิบัติโบรกเกอร์ที่ต้องชี้แจงพร้อมข้อเสนอให้ปรับปรุง ซึ่งมีโบรกเกอร์รายใหญ่–ต่างประเทศ และโบรกเกอร์เน้นรายย่อยต่างตบเท้าเข้าร่วมประชุมแบบครบองค์ 38 ราย
หลังจากพูดคุยข่าวอย่างเป็นทางการออกมาจากก.ล.ต.โฟกัสที่การตรวจสอบธุรกรรม naked short selling และกลไกในการกำกับธุรกรรมขายชอร์ต การซื้อขายผ่าน program trading อาทิ การวางหลักประกัน การส่งมอบหลักทรัพย์ เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์มีเสถียรภาพ เป็นธรรม และไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ลงทุนแต่ละประเภท
ส่งการบ้านไปยังสมาคมบล.ทบทวนแนวปฎิบัติสำหรับสมาชิกในธุรกรรมขายชอร์ตให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน และสอดคล้องตามข้อสังเกตของ ก.ล.ต.จากการใช้ program trading/การซื้อขายด้วยความเร็วสูงเพื่อทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าบริษัทหลักทรัพย์มีแนวปฎิบัติที่มีมาตรฐานเดียวกัน
รวมถึงการพิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการซื้อขายในอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ลงทุนสะท้อนการแข่งขันในเชิงคุณภาพ
ฝากฝั่งของโบรกเกอร์ที่ยื่นข้อเสนอในรอบนี้กลับเป็นที่สนใจและเป็นที่ฮือฮาของผู้อยู่ในตลาดทุน เพราะมีทั้ง"สุดโต่ง" ด้วยการเสนอให้นักลงทุนทุกกลุ่มสามารถ naked short sell ได้ แต่ให้หักกลบในวันเดียว (net setterment) และจำกัดจำนวนหุ้น ยังมีข้อโต้แย้งว่าเป็นการทำให้เกิดการเก็งกำไรหนักขึ้นและนำไปสู่การปล้นโบรกเกอร์เหมือนกรณีหุ้น MORE ที่ไม่มีเงินและหุ้นมาชำระส่งมอบได้ทัน
หรือการสอบถามโบรกเกอร์ต่างชาติที่ยอมรับมีลูกค้าที่ทำธุรกรรม short sell แต่ส่งมอบหุ้นไม่ครบตามที่ขายจริง ซึ่งอยู่ระหว่างตามข้อมูลเพิ่มเติมและไม่ระบุว่าเป็น naked short sell
ดังนั้นเพื่อให้ป้องปราบธุรกรรมที่ผิดกฎหมายและเกิดความเป็นธรรมกับทุกกลุ่มนักลงทุนและไม่เพียงแค่โบรกเกอร์ที่เป็นตัวกลางต้องรับผิดรับชอบ โดนบทลงโทษเพียงรายเดียวเท่านั้นกรณีลูกค้า Custodian ไม่ส่งข้อมูล short sell มาทัน 15 วันตามที่ ตลท.กำหนด
โดยให้บังคับ Custodian เปิดเผยข้อมูลโดยตรง หรือหากไม่ได้รับความร่วมมือเสนอให้ใส่ระบบ market ID ในหุ้นที่มีการทำ short sell เพื่อให้รู้ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงเหมือนที่ไต้หวันใช้อยู่ หรือบังคับให้นำหุ้นมาวางที่โบรกหรือ TSD ไปเลย
กรณีการวางวงเงินมาร์จิ้นและทำ short หากเป็นกองทุนขนาดใหญ่มีชื่อเสียงไม่ต้องวางหลักประกันสูงทำให้สามารถ Leverage เพิ่มขึ้นตามไปด้วยต้องปรับให้วางหลักประกันมากขึ้น
และหากพบผู้ที่ทำ naked short sell ต้องดำเนินคดีให้รุนแรงเป็นคดีอาญาและลงโทษไปถึงปลายทางที่เป็นเจ้าของเงินลงทุนไม่เพียงแต่โบรกเกอร์ต้องถูกปรับอย่างดียว
ส่วนกรณีเรียกร้องให้เปิดข้อมูลค่าคอมฯ จาก HFT ต้นทุนต่ำเกินไป ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างมากว่า “ทำไม่ได้พราะเป็นความลับทางธุรกิจ “ ด้วยต้นทุน-การลงทุนที่แตกต่างกันของโบรกเกอร์จึงเป็นเรื่องยาก แต่เสนอเฉพาะ HFT มองว่าต้นทุนต่ำเกินไปปรับเป็นค่าคอมฯที่มีกรอบขั้นต่ำ
การถกปมประเด็นร้อนของโบรกเกอร์ ต่อ ก.ล.ต. เป็นการชี้ให้เห็นได้ว่า การทำ naked short sell ไม่ใช่เรื่องยากในตลาดหุ้นไทย การได้เปรียบของนักลงทุนกลุ่ม HFT เกิดขึ้นจริง เป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. และ ตลท. ที่ต้องสร้างกำแพงมากันไม่ให้เกิด 2 มาตรฐานในตลาดทุนไทย