‘ITD’ ศึกหนักลุ้น 17 ม.ค.นี้ โบรก ชี้หลังชนฝาหวังเจ้าหนี้หุ้นกู้อนุมัติแผนเพื่อไปต่อ
จับตาที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ “ITD” 17 ม.ค. นัดชี้ชะตาจะไปต่อหรือพอแค่นี้ “บล.พาย” เผยบริษัทกำลังหลังชนฝา มอง “เพิ่มทุน-หาทุนใหม่” ยาก ทางรอดสุดท้ายอาจต้องเข้าสู่การ “ปรับโครงสร้างหนี้”ด้าน “บล.เอเซียพลัส” มองรีบแก้ที่ต้นเหตุ เร่งฟื้นฟูสภาพคล่องเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อ ขณะที่อนันดา - แมกโนเลีย ยันชำระหุ้นกู้คืนได้ตามกำหนด 100%
หากย้อนดูเส้นทางของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเปราะบางทั้งฐานะการเงิน-งานในมือ มาหลายปีแล้ว หรืออาจจะไม่ได้เจอคำว่า “กำไร” มาเลย ยิ่งเฉพาะเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ภายหลังหัวเรือใหญ่อย่าง “นายเปรมชัย กรรณสูต” ต้องเดินเข้าสู่เรือนจำ ดังนั้น งานประมูลต่างๆ ที่ต้องใช้ประสบการณ์ (สายป่าน) ที่เคยมีก็ไม่ถูกสานต่อส่งผลให้งานโครงการขนาดใหญ่ ๆ เหือดแห้ง นั่นทำให้ ITD ต้องหันไปแข่งรับงานขนาดเล็ก ๆ เพื่อให้เห็นว่า “บริษัทยังมีงานอยู่ไม่ขาดสาย” แต่ทำแล้วจะมีกำไรหรือไม่ค่อยว่ากันอีกที
จากข้อมูลงบการเงินสิ้นสุด 30 ก.ย. 2566 พบว่า บริษัทมีหนี้สินระยะยาวส่วนที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีกว่า 17,980 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้หุ้นกู้ 2,000 ล้านบาท และหนี้สินอื่น ๆ กว่า 15,980 ล้านบาท โดยมีหนี้สินหมุนเวียนรวมกว่า 71,000 ล้านบาท แต่ที่สำคัญที่เป็นด่านแรกที่ ITD กำลังต้องเผชิญคือหนี้หุ้นกู้กว่า 14,455 ล้านบาท เป็นหนี้ที่ครบกำหนดปี 2567 จำนวน 5,670 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 6,000 ล้านบาท และปี 2569 จำนวน 2,785 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ITD แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 17 ม.ค.2567 เพื่อขอยืดหนี้แลกกับการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม ซึ่งวันนั้นถือว่าจะเป็นวันชี้ชะตา ITD ว่าจะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ เพราะหากผู้ถือหุ้นกู้ไม่อนุมัติยืดหนี้และเป็นเหตุให้เกิด Cross Default ทั้งหมด
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เชื่อว่าปัจจุบันสถานการณ์ ITD ขณะนี้ กำลังหลังชนฝา เพราะตอนนี้ ITD มีทั้งเจ้าหนี้หุ้นกู้ ที่กำลังอยู่ระหว่างการยืดชำระหนี้ในวันที่ 17 ม.ค. นี้ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน (แบงก์) และที่ใหญ่สุดคือ เจ้าหนี้ทางการค้า ดังนั้น มองว่าแม้จะสามารถแก้ปัญหาเจ้าหนี้หุ้นกู้ได้ โดยผู้ถือหุ้นกู้อนุมัติเลื่อนชำระนี้หุ้นกู้ออกไปได้ แต่ยังมีปัญหาทางการเงินตามมาอีกมาก จากเจ้าหนี้ในข้างต้นที่กล่าวมา
ดังนั้น เชื่อว่า ITD กำลังเผชิญศึกหนักมาก และคงหลีกเลี่ยงในการ “เพิ่มทุน” หรือขอเติมเงินก้อนใหม่จากสถาบันการเงิน หรือผู้ถือหุ้น หรือทุนใหม่ยาก ท้ายที่สุดต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
โดยการปรับโครงสร้างหนี้ในที่นี้ ทำได้หลายแนวทาง ทั้งการขอให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มทุน หรือเติมเงินใหม่ จากพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อทำให้ ITD มีกระแสเงินสดเข้ามาก้อนใหม่ เพราะหากยิ่งขอสภาพคล่องจากสถาบันการเงิน สถานการณ์นี้อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก ภาระหนี้ หรือ D/Eอยู่ระดับสูงมาก
“สถานการณ์ในตอนนี้มองว่า จำเป็นที่ต้องมีเงินใหม่เข้ามา เพราะจะกู้ก็ยาก เนื่องจากภาระหนี้ต่อทุนสูงมาก ผู้ถือหุ้นอาจต้องควักเงินช่วย หรือไม่ผู้ถือหุ้นในส่วนเจ้าของอาจต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นลงมา เพื่อให้ทุนใหม่เข้าไปช่วย ไม่ว่าแบงก์หรือทุนรายใหม่ โดยมีเงื่อนไขในการมีอำนาจบริหาร ดังนั้นต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้โดยการเพิ่มทุนใหม่ ไม่งั้นไม่ต่อไม่ได้ โดยเฉพาะการรับงานในระยะข้างหน้าอาจเจอปัญหาได้ โดยเฉพาะ ITD ที่เป็นรายใหญ่ ทุกอย่างจะสะดุดหมด”
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ปัญหาของ ITD วันนี้คือโครงการที่ลงทุนไปยังไม่สร้างรายได้เข้ามา ขณะที่อัตรากำไรสุทธิก็แคบมาก ดังนั้น ทางออกของบริษัทต้องใช้เวลาให้โครงการที่ลงทุนไปสามารถสร้างรายได้เข้ามาให้ได้ ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าจะเมื่อไหร่
ทว่าปัจจุบันปัญหาที่บริษัทกำลังเผชิญคือ “ขาดสภาพคล่อง” ดังนั้น สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการคือ “หาแหล่งเงินทุนสำรอง” ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุน หรือ หาพันธมิตรธุรกิจ เข้ามาต่อลมหายใจให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งหากดูในตลาดไม่ใช่ไม่มีงานรับเหมาก่อสร้าง เพราะดูจากบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นก็ยังมีมูลค่างานในมือ (แบ็กล็อก) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“มองว่าปัจจุบัน ITD เจอปัญหาเฉพาะตัวในเรื่องของฐานะการเงิน ไม่ใช่ไม่มีงานในตลาด ดังนั้นต้นตอของปัญหาอยู่ต้องไหน ITD ต้องไปแก้ไขตรงนั้นก่อน โดยมองว่าทางรอดของบริษัทคงต้องเพิ่มทุน หรือ หาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามา”
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่บริษัทได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ และบริษัทฯ ได้ดำเนินการชำระหุ้นกู้คืนตามกำหนด 100% ให้กับนักลงทุนทุกท่านในวันที่ 15 มกราคม 2567 มูลค่า 3,826 ล้านบาท และพร้อมชำระคืนหุ้นกู้รอบถัดไปตามกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2567 มูลค่า 3,231 ล้านบาท
นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยืนยันว่า บริษัทได้จัดเตรียมเงินสดไว้เพื่อชำระหุ้นกู้ตามกำหนดชำระให้กับผู้ถือหุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดในเดือนมกราคม 2567 โดยจะครบกำหนดในวันที่ 22 มกราคม 2567 เป็นจำนวน 4,100 ล้านบาท และวันที่ 29 มกราคม 2567 เป็นจำนวน 5,604 ล้านบาท ไว้เรียบร้อยแล้ว