SCGP ชี้ดีมานด์ปี 67 ฟื้นตัว หวังดันรายได้ปีนี้โต แตะ 1.5 แสนล้าน

SCGP ชี้ดีมานด์ปี 67 ฟื้นตัว  หวังดันรายได้ปีนี้โต แตะ  1.5 แสนล้าน

SCGP มองแนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปี67 ฟื้นตัวจากการกระตุ้นท่องเที่ยว - ส่งออกปรับตัวดี เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยชะลอตัว กางแผนปี 67 รุกสร้างรายได้ ทำกำไร ตั้งเป้ารายได้จากการขาย 150,000 ล้านบาท โต 15% จาก ปี66 มีรายได้ 129,398 ล้านบาท ลดลง11% กำไร 5,248 ล้านบาท ลดลง 10%จากปีก่อน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศจีน โดยมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มลดลงจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะที่ราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลมีแนวโน้มทรงตัวจนถึงเพิ่มขึ้น และการปรับค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง

 

 

บริษัทพร้อมสร้างการเติบโตเพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ปี 2567 ที่ 150,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน  ด้วยงบลงทุนรวม 15,000 ล้านบาท ผ่านกลยุทธ์การขยายในธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูง อย่างธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ บรรจุภัณฑ์อาหาร และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Bio-Solutions ที่เป็นเมกะเทรนด์ การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ และการบริหารจัดการต้นทุน ควบคู่ไปกับการยกระดับการทำงานสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) ผ่านการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการขับเคลื่อน ESG เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก พร้อมทั้งดำเนินงานเพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

ขณะที่ ผลการดำเนินงานบริษัทฯ ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 129,398 ล้านบาท ลดลง11 % จากปีก่อน มี EBITDA 17,769 ล้านบาท ลดลง 8 % จากปีก่อน  และมีกำไรสำหรับปี 5,248 ล้านบาท ลดลง 10 %จากปีก่อน 

โดยมีอัตรา EBITDA Margin ปรับเพิ่มขึ้นเป็น14 % จากปีก่อนที่ 13%  จากการมุ่งเน้นบริหารต้นทุนและการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ มียอดขายบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังแข็งแกร่ง แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมกระดาษบรรจุภัณฑ์ปีที่ผ่านมามีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น และมีปัจจัยอัตราเงินเฟ้อและภาวะดอกเบี้ยซึ่งส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของผู้บริโภค 

ทั้งนี้ปัจจุบันสถานการณ์ราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษในภูมิภาคผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในภูมิภาคอาเซียนและประเทศจีน

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 มีรายได้จากการขาย 31,881 ล้านบาท ลดลง 5 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1 % เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ส่วน EBITDA 4,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4%  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสำหรับงวด 1,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น171 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 8%  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 

เนื่องจากค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้และต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น โดย EBITDA และกำไรสำหรับงวดที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายในเกือบทุกกลุ่มสินค้า และการเสริมประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานในประเทศไทย การมีเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลที่ครอบคลุม ช่วยลดผลกระทบด้านราคาและเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาวัตถุดิบ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนใช้พลังงานชีวมวล

ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย สินค้าส่งออกโดยเฉพาะอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยงที่ฟื้นตัวดี ส่วนสินค้าคงทนยังทรงตัว

จากผลการดำเนินงานของปี 2566 คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท โดยบริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลงวดระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท ในวันที่ 22 เมษายน 2567 ตามรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 3 เมษายน 2567 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD หรือวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 2 เมษายน 2567