โบรกอ่วม "กำไรปี 66ทรุด" วอลลุ่มหุ้นไทยต่ำสุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่วิกฤติโควิด
วอลลุ่มหุ้นปี 66 ร่วงหนักในรอบ 5 ปี เฉลี่ย 51,082.42 ล้านบาท ต่ำกว่าวิกฤติโควิดที่ 53,192 ล้านบาทฉุดธุรกิจโบรกเกอร์อ่วม นายกสมาคมบล. รับกระทบหนักรายได้โบรกเกอร์เรตวูบจากฐานรายย่อย สวนทางต่างชาติ-กองทุนยังเอาตัวรอดได้บล.เมย์แบงก์ กำไรปี 66 ลดลง 40 % ที่ 364.91 ล้านบาท
ตลอดปี 2566 ภาวะตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางแรงขายของต่างชาติกดดันทำให้ดัชนีปรับตัวลดลง จากระดับเกือบ 1,700 จุด ช่วงต้นปีดัชนีทยอยปรับลง ตั้งแต่ มิ.ย.หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งเดือน พ.ค. โดยเดือน ส.ค. หลุด 1,600 จุด เดือนก.ย. หลุด 1,500 จุด เดือน ต.ค. หลุด 1,400 จุด และในเดือนพ.ย.ทำนิวโลว์ในรอบ3 ปี ที่ 1,357 จุดก่อนจะจบปี 2566 ที่ 1,415.85 จุด ดัชนีต่ำสุด 1,357 จุด และสูงสุด 1,691.41 จุด ส่งผลทำให้ตลอดทั้งปีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง 15.15%
ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งเฉลี่ยรายเดือนปรับตัวลงต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อวัน จากมูลค่าการซื้อขายรายเดือนปี 2566 เริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนมิ.ย. และลงมาต่ำสุดของปีเดือน ธ.ค. ที่ 38,106.32 ล้านบาท จากสูงสุดของปี เดือน ม.ค. อยู่ที่ 68,194.17 ล้านบาท
หากเปรียบเทียบมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายปีพบว่าปี 2566 ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 51,082.42 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 อยู่ที่ 53,192 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติโควิด และหลังจากนั้นปี 2563-2565 มูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องถึง 70,000 -80,000 ล้านบาทต่อปี
ด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นไทย “โบรกเกอร์” ซึ่งมีบริษัทสมาชิกทั้งหมด 32 ราย เผชิญผลกระทบไม่แตกต่างจากภาวะตลาดหุ้นไทย หากอยู่ที่โครงสร้างเน้นฐานลูกค้าเป็นกลุ่มต่างชาติ - สถาบัน หรือ รายย่อย
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เปิดเผยว่า ภาวะซื้อขายตลาดหุ้นปี 2566 ปรับตัวลดลงต่ำกว่าช่วงปี 2562 ที่เกิดวิกฤติโควิดยอมรับว่ากระทบธุรกิจโบรกเกอร์ด้านผลประกอบการอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะคลอบคลุมครึ่งหนึ่งของบริษัทโบรกเกอร์ที่มีอยู่
โดยรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (brokerage) ยังเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดตามโครงสร้างรายได้ของโบรกเกอร์ หากแต่ต้องดูโครงสร้างแต่ละบล. ด้วยว่าเน้นจุดเด่นการทำธุรกิจด้านไหน เน้นฐานลูกค้ากลุ่มอะไร ทำให้สัดส่วนผลกระทบแตกต่างออกไปอีก
หากเป็นโบรกเกอร์ที่เน้นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ -สถาบัน ได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มโบรกเกอร์ที่เน้นนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นมีสัดส่วนที่ลดลง ขณะที่กองทุนและต่างชาติแม้จะมีมูลค่าการขายสุทธิแต่มีธุรกรรมทั้งซื้อและขายยังทำให้โบรกเกอร์กลุ่มนี้กระทบน้อยกว่า
“วอลลุ่มที่ลดลงเห็นว่าต่ำกว่าปี 62 ที่เกิดวิกฤติโควิดแต่หลังจากนั้นทุกโบรกเกอร์ได้รับผลดีจากวอลลุ่มที่กระโดดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง วอลลุ่มมาลดลงปีที่ผ่านมามาจากฐานลูกค้ารายย่อยหายไป ซึ่งภาวะตลาดแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกโบรกเกอร์เคยเผชิญมาแล้วก็ต้องปรับตัวกันไป ทางสมาคมฯ ยังไม่ได้เตรียมนำไปหารือเพราะข้อมูลภาพรวมยังได้ไม่ครบว่าสัดส่วนรายได้ brokerage เฉลี่ยแล้วเหลือเท่าไร แต่เชื่อว่าแต่โบรกเกอร์เร่งปรับตัวกันอยู่แล้ว ”
นายอารภัฏ สังขรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST รายงาน ผลประกอบการปี 2566 มีกำไรสุทธิ 364.91 ล้านบาท ลดลง 41.91% เทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 628.23 ล้านบาท สาเหตุรายได้ค่านายหน้าลดลง 466.41 ล้านบาท จาก 1,648.83 ล้านบาท เหลือ 1,182.42 ล้านบาท หรือลดลง 28.29 %
เนื่องจากรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง 482.27 ล้านบาท จาก 1,492 ล้านบาท เหลือ 1,009.73 ล้านบาท หรือลดลง 32.32% อันเป็นผลจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ลดลงจาก 76,772.85 ล้านบาท ต่อวัน เหลือ 53,331.30 ล้านบาทต่อวัน หรือลดลง 30.53% และสัดส่วนนักลงทุนบุคคล ซึ่งเป็นส่วนรายได้หลักของบริษัทลดลง 39.02% เหลือ 33.82% ทำให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของนักลงทุนบุคคลลดลงจาก 29,957.14 ล้านบาทต่อวัน เหลือ 18,033.25 ล้านบาทต่อวัน หรือลดลง 39.80%
ส่วนรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 15.86 ล้านบาท จาก 156.83 ล้านบาท เป็น 172.69 ล้านนบาท เพิ่มขึ้น 10.11% ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการลดลง 103.22 ล้านบาท จาก 251.68 ล้านบาท เหลือ 148.46 ล้านบาท ลดลง 41.01% เนื่องจากค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ลดลง 58.13 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาทางการเงินลดลง 43.73 ล้านบาท และและค่าธรรมเนียมและบริการอื่นลดลง 5.12 ล้านบาท ในขณะที่ ค่าธรรมเนียมจากการขายและการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน เพิ่มขึ้น 3.76 ล้านบาท