DR และ DRx อีกทางเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ...แบบไม่ต้องกังวลเรื่องภาษี
DR และ DRx คือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เหมือนกันแต่ DRx หรือ Fractional Depositary Receipt ก็คือ DR แต่เป็น size ที่เล็กกว่า สามารถลงทุนเป็นจำนวนเงินบาท หรือ “เศษหุ้น” ได้
หลังจากที่กรมสรรพากรได้มีการออกหลักเกณฑ์จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ “ผู้ที่มีเงินได้จากต่างประเทศ” หากผู้อยู่ในประเทศไทยนำเงินได้กลับเข้ามาในไทยไม่ว่าจะข้ามปีหรือปีเดียวกันกับปีที่เกิดเงินได้จะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีฯ โดยมีผลใช้บังคับกับเงินได้ที่นำเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ทางภาษีย่อมส่งผลกระทบกับผู้ที่ลงทุนในต่างประเทศโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นหุ้น/กองทุน/ตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ที่นำเงินไปลงทุนต่างประเทศ ทำให้ในปีนี้หากมีผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น เงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น ดอกเบี้ย ฯลฯ และมีการโอนกลับไทยจะต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามฐานภาษีแบบขั้นบันไดสูงสุดถึง 35%
การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ทางภาษีดังกล่าวนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลให้นักลงทุนสายต่างประเทศอาจพิจารณามองหาการลงทุนทางเลือกที่ช่วยลดภาระและขั้นตอนการเสียภาษี เช่นอาจปรับสัดส่วนไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF) เนื่องจากกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) ได้รับยกเว้นภาษีและในส่วนของเงินปันผลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ก็ไม่จำเป็นต้องนำไปรวมเพื่อเสียภาษีปลายปีอีก
เช่นเดียวกับ DR (Depositary Receipt) ที่ในระยะหลังก็เริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นและเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้เรายังสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ DR (Depositary Receipt) หรือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศออกโดย “ผู้ออก DR” (บริษัทหลักทรัพย์/ธนาคารพาณิชย์) เป็นผู้ที่ไปซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น หุ้นหรือ ETF เพื่อนำมาออกเป็น DR เสนอขายให้นักลงทุนทั่วไปและจะทำหน้าเป็นผู้ที่ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นๆ แทนนักลงทุน โดยผ่านการซื้อขาย DR ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ซื้อขายด้วยสกุลเงินบาท แต่ข้อดีที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ DR สามารถซื้อขายได้ขั้นต่ำครั้งละ 1 DR ขณะที่หุ้นทั่วไปจะซื้อขายขั้นต่ำที่ Board Lot ละ 100 หุ้น
หลายคนอาจเคยได้ยิน DRx และอาจสงสัยว่าต่างกับ DR อย่างไร? โดยหลักการทั่วไปทั้ง DR และ DRx คือ ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เหมือนกันแต่ DRx หรือ Fractional Depositary Receipt ก็คือ DR แต่เป็น size ที่เล็กกว่า สามารถลงทุนเป็นจำนวนเงินบาท หรือ “เศษหุ้น” ได้ และยังมีรายละเอียดการซื้อขายแตกต่างจาก DR อยู่บ้าง เช่น
· ต้องมีบัญชีหุ้นกับโบรกเกอร์ผู้ให้บริการซื้อขาย DRx เพิ่มเติม (ในขณะที่ DR หากมีบัญชีหุ้นอยู่แล้ว ก็สามารถซื้อขาย DR ได้เลย)
· ซื้อขายได้ตามเวลาของตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่หลักทรัพย์อ้างอิงจดทะเบียนอยู่
· สามารถลงทุนเป็นจำนวนเงินบาท หรือ “เศษหุ้น” ที่ 0.0001 หน่วย (ในขณะที่ DR ต้องซื้อขั้นต่ำ 1 หุ้น ไม่สามารถซื้อเป็นเศษหุ้นได้)
จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าเรายังมีผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทน และยังดีต่อนักลงทุนรายย่อยไม่จำเป็นต้องเปิดพอร์ตหุ้นต่างประเทศที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงรวมถึงภาระภาษีดังที่กล่าวไปด้วย