โบรกแนะกลุ่มไฟแนนซ์ รับอานิสงส์ เงินเฟ้อติดลบเพิ่มแรงกดดัน ‘ลดดอกเบี้ย’
เงินเฟ้อไทยติดลบ เป็นเดือนที่ 4 เพิ่มแรงกดดัน “ลดดบ.” ส่งผลบวก "กลุ่มไฟแนนซ์" เหตุต้นทุนลด บล.ซีจีเอส อินเตอร์ เนชั่นแนล แนะไม่รีบลงทุน รอเห็นรัฐคลอดมาตรการกระตุ้นชัดเจน บล.กสิกรไทย ย้ำระวังความเสี่ยง หนี้เสียเพิ่ม-ต้นทุนออกหุ้นกู้ยังสูง มองจำนำทะเบียนน่าสนใจสุด
ความเสี่ยงจากปริมาณหนี้เสียเพิ่มขึ้น จากปัญหาหนี้ครัวเรือนระดับสูง ต้นทุนออกหุ้นกู้ที่ยังสูง แม้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลจะเริ่มปรับตัวลดลงมาแล้วก็ตาม รวมทั้งเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค. 2567 ติดลบ 1.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำกว่าตลาดคาดติดลบ 0.82% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าต่ำสุดรอบ 35 เดือน
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าเงินเฟ้อไทยเดือน ก.พ. 2567 มีโอกาสติดลบเป็นเดือนที่ 5 จากราคามาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ จึงช่วยลดต้นทุนหลักของภาคอุตสาหกรรม บวกกับผลกระทบของเอลนีโญ่มีแนวโน้มลดลง แต่เงินเฟ้อมีโอกาสขยับขึ้นจากความเสี่ยงสงคราม และภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส อินเตอร์ เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากเงินเฟ้อติดลบ 4 เดือนติด คาดจะเพิ่มแรงกดดันในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นบวกระยะสั้นกับกลุ่มไฟแนนซ์จากต้นทุนที่ลดลง และสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากที่ราคาสินค้าปรับตัวลดลงได้
ขณะที่หากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องได้ในระยะกลางมองการเติบโตสินเชื่อมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น และอัตราส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้คาดมีโอกาสปรับลดลง จากตอนนี้ยังมีความเสี่ยงหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น จากหนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังคงกดดันกลุ่ม Non-bank คือ ต้นทุนเครดิต เพราะหลายธุรกิจยังมีความเสี่ยง เช่น เช่าซื้อและสินเชื่อบุคคล ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนกลุ่มหุ้นไฟแนนซ์ แนะรอไม่รีบร้อนเข้าลงทุนควรรอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนก่อน แต่สามารถลงทุนได้ในหุ้นไฟแนนซ์ที่มีสถาบันการเงินหนุน เช่น TIDLOR ปลอดภัยที่สุด
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ได้รับปัจจัยบวกด้านดอกเบี้ยในตลาดผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว น่าจะทำให้ระดับต้นทุนการเงินไม่เพิ่มขึ้นมากแล้วในปี 2568 เป็นต้นไป และทิศทางการโตของสินเชื่อถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี เช่น สำหรับธุรกิจจำนำทะเบียน คาดสินเชื่อเติบโต 15-20%
อย่างไรก็ตาม ยังเห็นความเสี่ยงจากปริมาณหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง และต้นทุนการออกหุ้นกู้ที่ยังสูงขึ้นแม้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลจะเริ่มปรับตัวลดลงมาแล้วก็ตาม
ดังนั้น เรายังให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มไฟแนนซ์เท่ากับตลาด แนะกลุ่มจำนำทะเบียนน่าสนใจกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีระดับราคาหุ้นที่ไม่แพงแล้วในกรอบ PER 15-17 เท่า และ ปี 2567 มีแนวโน้มกำไรกลับมาเติบโตได้จากการตั้งสำรองที่น่าจะลดลง หุ้นเด่นยังคงเป็น TIDLOR , MTC
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า เงินเฟ้อไทยที่ปรับตัดลดลงช่วง 3-4 เดือนที่แล้ว เป็นแรงหนุนได้ แต่หากเงินเฟ้อติดลบนานๆ ไป อาจเพิ่มความกังวลเรื่องเงินฝืด และเป็นสัญญาณตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัว โดยผลต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบาย (2.5%) และเงินเฟ้อพื้นฐาน (0.52%) ล่าสุดห่างกัน 1.98% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีครึ่ง อาจเพิ่มโอกาสที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แรงขึ้น ผ่านนโยบายการเงินผ่อนคลาย และนโยบายการคลังที่เข้มข้นขึ้น
แม้ว่าปัจจัยดังกล่าวจะสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงระยะสั้น แต่ดัชนีหุ้นไทยได้ตอบรับประเด็นลบมาในระดับหนึ่งแล้ว จนทำให้คาดการณ์ P/E ปี 2567 อยู่ที่ 14 เท่า
ขณะที่ กลยุทธ์แนะนำทยอยสะสม หุ้นได้รับอานิงสงส์จากความหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม โดยกลุ่มไฟแนนซ์ ได้แก่ TIDLOR , SAWAD , MTC
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปี 2567 เติบโต 20% หรือ 170,000 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจาก 140,000 ล้านบาท หวังกระจายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านสาขากว่า 7,600 แห่ง สอดรับปีนี้ตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่อีก 600 สาขา มุ่งสร้างความเท่าเทียมทางการเงินให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อการบริการให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในทุกมิติ
ทั้งนี้ จากเป้าหมายพอร์ตปล่อยสินเชื่อระดับ 170,000 ล้านบาท ส่งผลให้ต้องหาแหล่งเงินทุน โดยปีนี้มีแผนกู้เงินจากสถาบันการเงินในต่างประเทศ จำนวน 10,000 ล้านบาท และที่เหลือจะเป็นกระแสเงินสดจากผลดำเนินงานและช่องทางการระดมทุนอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่บริษัทต้องพึ่งพาการกู้เงินต่างประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดของสถาบันการเงินในไทยมีวงเงินจำกัด ซึ่งหาเป้าหมายยอดปล่อยสินเชื่อดังกล่าว บริษัทต้องกู้เงินจากสถานบันการเงินไม่ต่ำกว่า 10 แบงก์ โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีการกู้เงินจากต่างประเทศทั้ง JICA (ไจก้า) และแบงก์ของเยอรมัน วงเงินรวมกันประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท