คงน้ำหนักตลาดหุ้น สถานการณ์ยังทรงตัว
ตลาดหุ้น สถานการณ์ยังทรงตัว แนะนำให้ปรับสัดส่วนของตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ 50% จัดเป็น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมกันไม่เกิน 25 % ญี่ปุ่น และ เวียดนาม รวมกันไม่เกิน 15% ประเทศไทย 10%
มกราคมปีนี้ดูค่อนข้างหนักสำหรับนักลงทุนทั่วไปโดยเฉพาะนักลงทุนหุ้น ในช่วงที่ตลาดหุ้นของเราตกต่ำก็มีทฤษฎี จาก กูรู ในหลายสำนักออกมาอธิบายวิกฤติการณ์ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไม่เลิก ดัชนีหุ้นตกต่ำลงเรื่อยๆ และก็ลุกลามไปถึงความกังวลว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะถดถอยลงอย่างรุนแรง เมื่อมาถึงตรงจุดนี้ผมก็ขอแสดงความเห็นต่อสถานการณ์นี้ผ่านมุมมองของผมนะครับ
มาเริ่มจากความกังวลเรื่องสังคมสูงวัยจะทำให้สังคมไทยเริ่มจะคล้ายกับญี่ปุ่น คือ ผู้สูงวัยเยอะ วัยแรงงานน้อย ไม่กล้าลงทุน ดอกเบี้ยต่ำ แต่ทรัพย์สินแพงเกินเอื้อมโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ความกังวลในเรื่องนี้ มีความเป็นไปได้เหมือนกันแต่ไม่ถูกต้องนักเพราะเราต่างจากญี่ปุ่นตรงที่งบลงทุนเราน้อยกว่าเขาเยอะ การใช้จ่ายส่วนใหญ่ของรัฐบาลไม่ใช่การลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ในญี่ปุ่นเป็น Loss Carry เพราะรัฐบาลเข้าไปอุดหนุนต้นทุนราคา คือยิ่งทำยิ่งขาดทุนแต่ประชาชนใช้บริการได้ดีและราคาถูก แต่ประเทศไทยโครงสร้างพื้นฐานของเราเป็นตัวสร้างกำไรให้รัฐบาล ยิ่งทำยิ่งรวย เช่น รถไฟฟ้า รถใต้ดิน มอเตอร์เวย์ อีกเรื่องคือประเทศไทยค่อนข้างเป็นมิตรกับแรงงานต่างด้าวมากกว่าญี่ปุ่น อธิบายแค่นี้พอนะครับเอาเป็นว่าจะผิดจะถูกยังไงไม่มีใครรู้หรอกครับเพราะยังไม่เกิดแต่ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มแบบนี้ก็แล้วกัน
เรื่องที่สองเป็นเรื่อง Engine of Growth หรือ พัฒนาการที่ทำให้เราเติบโตอย่างก้าวกระโดด เราคงไม่ไปถกเถียงกันว่าที่ทำกันไปนั้นถูกหรือผิดนะครับ ในช่วง 3 ทศวรรต ที่ผ่านมาของเรา เราเริ่มโตกันจริงๆจังๆ จาก การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก หรือ มาบตาพุต โดยหัวหอกที่สำคัญคือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปัจจุบันคือ PTT ภายใต้โครงการ National Petrochemical Complex (NPC) ซึ่งทำให้เราต่อยอดอุตสาหกรรมไปได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นทางด้านปิโตรเคมี สิ่งทอ บรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมพื้นฐานเกี่ยวกับการบริโภคและการส่งออก ถือได้ว่าเป็นการพลิกบทบาทจากประเทศที่ส่งออกแค่สินค้าเกษตร และขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง ก็กลับมาเติบโตจากการส่งออกได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ถัดมาก็มีคลื่นหนุนเล็กๆ มาเรื่อยๆ จากการขยายตัว ของนิคมอุตสาหกรรม การส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ การเปิดเสรีทางการเงินและสถาบันการเงิน และการส่งเสริมการมีบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ จากจุดนั้นมีอะไรต่ออีกหรือไม่ เพราะบางคนอาจจะบอกว่าการท่องเที่ยวแต่ผมจะบอกดังๆว่าตอนนี้เขาก็ส่งเสริมเรื่องนี้กันทุกประเทศ และไม่ใช่ของใหม่ ส่วน EV ก็ยังเป็นอะไรที่ต้องรอดูกันไปยาวๆ ดังนั้น คำตอบคือไม่มี เพราะเราเกิดสิ่งที่เรียกว่า Loss Decade หรือ ทศวรรต ที่หายไป ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือวิทยาการใหม่ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ประเทศไทยเหวี่ยงตัวไปตามกระแสโลก งบลงทุนลดลงจนน่าตกใจ บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเพราะ COVID ก็เอาเถอะครับ ต่อมาก็มีประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันของเราลดลง แต่ผมว่าที่เราลืมคือที่ผ่านมาความสามารถในการแข่งขันของเราก็ไม่ได้ดีกว่าคนอื่นซะเท่าไร แต่การสร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ของเราต่างหากที่หายไป เราต้องมาค้นหาสารตั้งต้นอันใหม่ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับที่เราเคยสร้าง NPC ขึ้นมา พูดง่ายทำยากครับ แต่ผมว่านี่เป็นความจริง
มาที่ตลาดหุ้น ผมขอให้ทุกคนกลับมายืนที่เหตุผลก่อน ทำไมเงินไหลออกจากหุ้นและจากประเทศไทย ตอบประเด็นแรกก่อนคือต่างชาตขายสุทธิตลอด ต้องมาดูว่าปัจจัยที่ทำให้หุ้นขึ้นได้คือแนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน การที่เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแต่ความสามารถในการส่งผ่านราคาลดลงทำให้กำไรลดลง ทำให้หุ้นไทยน่าจะถูกปรับประมาณการกำไรสุทธิลงละครับ อันนี้ตอบเรื่องขายหุ้น ส่วนเรื่องเงินไหลออก ชัดเจนมากคือประเทศที่เป็นศูนย์กลางของปัญหา เริ่มฟื้นตัวขึ้นถึงแม้แนวโน้มดอกเบี้ยจะลดลงแต่เศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นค่าเงินย่อมมีเสถียรภาพมากขึ้น เงินก็ต้องไหลเข้าที่ที่ปลอดภัยและมีความผันผวนต่ำ ดังนั้น นักลงทุนต่างประเทศย่อมต้องการถือสินทรัย์สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกามากขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจจีนที่ไม่ค่อยจะดี การสู้รบในหลายจุดทั่วโลกและปัญหาในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์
มาเรื่องหุ้น ปัจจัยในเดือนที่ผ่านมา ก็มี FED ไม่ลดดอกเบี้ย ธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกยังคงนโยบายการเงินแบบเดิม การเมืองในประเทศเราทรงตัว นโยบายเงินดิจิตัลเลื่อนออกไป น้ำมันแพงขึ้นอันเนื่องมาจากสถานการณ์ตะวันออกกลาง ส่วนปัจจัยลบในประเทศ ที่ผมมองว่าไม่แน่จะลบมากกว่านี้ คือ ดอกเบี้ยบ้าน โดยมองว่าเราคงไม่ขึ้นแล้วแต่ก็ไม่น่าจะลงในเร็วๆนี้ ดัชนีหุ้นที่มองกัน 1,200 จุด ก็ดูจะโหดร้ายเกินไป ระดับนั้นนานทีมีหนน่าจะเป็นโอกาสเข้าลงทุนมากกว่า
แนะนำให้ปรับสัดส่วนของตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ 50% จัดเป็น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน รวมกันไม่เกิน 25 % ญี่ปุ่น และ เวียดนาม รวมกันไม่เกิน 15% ประเทศไทย 10% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% ตลาดเงิน 10% ส่วนที่เหลือกองทุนทางเลือก 10% ผมยังให้น้ำหนักลงทุนใน เน้น REIT กระจายบางส่วนในทองคำ และ น้ำมัน ครับ