CREDIT เปิดเทรดวันแรก 26.25 บาท ต่ำจอง 9.48% จากไอพีโอ 29 บาท
CREDIT เปิดเทรดวันแรก (9 ก.พ.67) ที่ 26.25 บาท ลดลง 2.75 บาท หรือ -9.48% จากราคา IPO 29 บาท ตามทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีวอลุ่มเบาบางนักลงทุนยังรอดูทิศทางตลาด ด้านไทยเครดิต ชี้ธนาคารยังมีศักยภาพในการเติบโตระดับ 30% ต่อปี สอดคล้องกับราคาหุ้นยังน่าสนใจ เป็นโอกาสของรายย่อย
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) “CREDIT” โดยเข้าซื้อขายเป็นวันแรก (เทรด) วันนี้ (9 ก.พ.2567) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดตลาดที่ราคา 26.25 บาท ลดลง 2.75 บาท หรือ -9.48% จากราคาไอพีโอ 29 บาท ตาม "ดัชนีหุ้นไทย" เปิดตลาดเช้าวันนี้วอลุ่มยังเบาบางช่วงตรุษจีนและนักลงทุนยังรอดูทิศทางตลาด
ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) “CREDIT” เป็นหุ้นไอพีโอ ลำดับที่ 2 ของปีนี้ ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในหมวดกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดธุรกิจธนาคาร ลำดับที่ 12 และนับว่า เป็นหุ้นธนาคารที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในรอบ 10 ปี
CREDIT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อนาโน และไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) มายาวนานกว่า 15 ปี แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มคนค้าขายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ซึ่งมีจำนวนมาก และถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารมีทีมวิเคราะห์สินเชื่อ และบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง ผ่านสาขาการให้บริการกว่า 527 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และช่องทางดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้มีอัตราการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีคุณภาพสินเชื่อที่ดี 2566 ที่ผ่านมา
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CREDIT เปิดเผยว่า แม้ราคาหุ้น CREDIT เปิดเทรดต่ำจอง สาเหตุุน่าจะตามภาวะตลาดที่นักลงทุนอาจยัง wait and see การลงทุนในวันนี้อยู่ ยังต้องรอดูไปอีกระยะหนึ่ง
แต่เชื่อมั่นว่าเราเป็นหุ้นแบงก์ที่ศักยภาพการเติบโตอีกมาก พอร์ตสินเชื่อยังสามารถเติบโตได้ระดับ 30% ต่อปี และมี NIM สูงสุดและต้นทุนต่ำสุดในอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน เงินระดมทุนครั้งนี้จะนำไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับเงินกองทุนของธนาคาร รองรับการปล่อยสินเชื่อช่วยคนไทยเข้ามาถึงสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้น และให้ความรู้ด้านการเงิน ตอบโจทย์ในเรื่องธรรมาภิบาล จึงได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ
โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มี Net Interest Margin (NIM) สูงถึง 8.76% มีจำนวนสัญญาให้สินเชื่อกว่า 370,000 บัญชี และพร้อมที่จะให้บริการด้วยผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ภายหลังได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ให้เป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบเมื่อ 17 สิงหาคม
CREDIT มีทุนชำระแล้ว 6,146.45 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวม 254.13 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิมของ OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. 189.42 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 64.71 ล้านหุ้น
โดยเสนอขายให้แก่ 1) บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ พนักงาน และผู้มีอุปการคุณของธนาคารระหว่างวันที่ 23 - 26 มกราคม 2567 และ 2) ผู้ลงทุนสถาบัน (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในประเทศ นิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ และผู้ลงทุน (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในต่างประเทศ ผ่านผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchaser) ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ราคาหุ้นละ 29 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,876.47 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 35,649.39 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มสถาบันตอบรับเต็มจำนวน
" การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนให้บริษัทเติบโตตามกลยุทธ์ที่วางไว้ทั้งในเชิงธุรกิจ และการขับเคลื่อนสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาว เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการให้บริการไมโครไฟแนนซ์ของประเทศไทย สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ในการขยายพอร์ตสินเชื่อ และปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure)"
CREDIT มีผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กลุ่มวี.ซี.สมบัติ ถือหุ้น 60.40% 2) นายวิญญู ไชยวรรณ ถือหุ้น 6.40% และ 3) กลุ่มนายวีรเวท ไชยวรรณ ถือหุ้น 1.90%
ทางด้านธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ราคาIPO ของหุ้น รอบนี้ ประเมินจาก PE ของเท่าที่ 2 เท่า ถือว่า เป็นราคาเหมาะสมอยู่ระดับปานกลาง คือ ราคาต่ำกว่า นอนแบงก์ มี P/E เฉลี่ยที่ 2.3-3 เท่า และสูงกว่า ธนาคารพาณิชย์ เล็กน้อย เฉลี่ยที่ 1.8 เท่า ซึ่งเป็นธนาคารที่มีความมั่นคงเหมือนธนาคารพาณิชย์ แต่สร้าการเติบโตคล้ายกับนอนแบงก์
แต่ด้วยสภาพตลาดไอพีโอผันผวน และภาวะตลาดขณะนี้ที่นักลงทุนยังรอติดตามหลายๆปัจจัย น่าจะเป็นเหตุทำให้ราคาเปิดเทรดวันแรกต่ำกว่าราคาไอพีโอ แค่เรามองว่า ด้วยระดับราคาดังกล่าวเป็นโอกาสดีและเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะมีธุรกิจแบงก์เข้ามาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีนักลงทุนสถาบันต่างชาติให้ความสนใจจองซื้อเต็ม
“การที่ราคาหุ้นเปิดเทรดวันแรกต่ำจอง คงไม่สามารถคาดการณ์ไว้ได้ แต่เรามองว่าน่าจะเป็นไปตามภาวะตลาดที่รายย่อยอาจรอดูก่อน เรายังต้องติดตามก่อนว่า ปิดตลาดจะเป็นอย่างไร แต่มองว่าที่ระดับราคาหุ้นในตอนนี้ ยังมีความน่าสนใจ เป็นโอกาสเข้าลงทุนของนักลงทุนรายย่อย เพราะว่าเรายังคงเป็นหุ้นแบงก์ที่ยังมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว ”
อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มีการพิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) ราคาที่เสนอขายคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value : P/BV) เท่ากับ 2.12 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value Per Share) ที่ 13.70 บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากมูลค่าตามบัญชีของธนาคาร ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้
ทั้งนี้ ธนาคารมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมายและตามที่ธนาคารฯ กำหนด ซึ่งไม่เกินกว่ากำไรสะสมตามงบการเงินเฉพาะกิจการ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์