5 CEO หุ้นบิ๊กแคป องค์กรเกินแสนล้าน สุดแกร่งปี 67 ราคาพุ่งแรงขึ้นจ่าฝูงบวกสูงสุด 26%

5 CEO หุ้นบิ๊กแคป องค์กรเกินแสนล้าน สุดแกร่งปี 67 ราคาพุ่งแรงขึ้นจ่าฝูงบวกสูงสุด 26%

5 CEO หุ้นบิ๊กแคป องค์กรเกินแสนล้าน สุดแกร่งปี 67 หุ้น TRUE มาแรงราคาพุ่งขึ้นจ่าฝูงบวกสูงสุด 26% ตามมาด้วย หุ้น AWC ผลตอบแทนราคา YTD +14.61%

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ 15 ก.พ.2567 มีบริษัทจดทะเบียนที่มีมาร์เกตแคปเกิน 1 แสนล้านบาท อยู่ทั้งสิ้น 34 บริษัท ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และเมื่อส่องลึกเข้าไปดูผลงานด้านราคาหุ้นของบริษัทแสนล้านเหล่านี้ ในปี 2567 พบ 5 หุ้นที่มีผลงานโดดเด่น โดยการปรับราคาขึ้นไปสูงที่สุดตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการบริหารงานของผู้นำองค์กรสูงสุด หรือที่เรียกว่า CEO (Chief Executive Officer) 

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจ CEO หุ้นแสนล้าน ใน 5 หลักทรัพย์ ที่ราคาพุ่งแรงแซงเป็นจ่าฝูงของกลุ่มหุ้นบิ๊กแคปไปแล้วตั้งแต่ 8 - 26% 

5 CEO หุ้นบิ๊กแคป องค์กรเกินแสนล้าน สุดแกร่งปี 67 ราคาพุ่งแรงขึ้นจ่าฝูงบวกสูงสุด 26%

1.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) TRUE

ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม บริการด้านดิจิทัลครบวงจร และดิจิทัลคอนเวอร์เจนซ์ไลฟ์สไตล์ครอบคลุมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ บอรดแบนด์อินเทอร์เน็ต WiFi โทรทัศน์ คอนเทนต์ และดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม

  • มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • มาร์เก็ตแคป 221,133 ล้านบาท
  • ผลตอบแทนราคา YTD +26.73%
  • ราคาปิด 15 ก.พ.67 ที่ 6.35 บาท
  • P/E - เท่า 
  • P/BV 2.26 เท่า 

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุว่า TRUE คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นเนื่องจาก 1) ผลประกอบการจะฟื้นตัวในไตรมาส 4/66 และปี 67 และ 2) EV/EBITDA ปี 67 ต่ำที่ 5.9 เท่า (เทียบกับค่าเฉลี่ยของธุรกิจโทรคมนาคมในอาเซียนที่ 6.9 เท่า) ราคาเป้าหมายอิงวิธี DCF ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 7.50 บาท (WACC 5.8%, Terminal Growth 2.0%) 

ปัจจุบัน คาดการณ์ผลขาดทุนสุทธิหลักจะลดลงเหลือ 2.6 พันล้านบาท ในปี 67 จาก 7.6 พันล้านบาทในปี 66 โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของรายได้ 1% และการประหยัดต้นทุนจากสร้าง synergy ในปี 67 ขณะที่ปัจจัยที่จะหนุนราคาหุ้นคือผลประกอบการรายไตรมาสที่ค่อยๆ ฟื้นตัว

โดยปรับลดประมาณการผลขาดทุนหลักในปี 66/67 เหลือ 7.6/2.6 พันล้านบาท จาก 8.1/3.1 พันล้านบาท เนื่องจากปรับลดประมาณการ SG&A ลง 5%/10% ตามลำดับ โดยประมาณการ SG&A ที่ลดลงเกิดจาก "การปรับปรุงองค์กรให้ทันสมัย" ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การลดค่าใช้จ่ายทั่วไป ค่าเช่าร้านค้า และค่าเช่าสำนักงาน 

ทั้งนี้ คาดว่าผลขาดทุนหลักจะลดลงเหลือ 1.7 พันล้านบาท ในไตรมาส 4Q66 จาก 1.9 พันล้านบาทในไตรมาส 3/66 อันเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ 0.5% QoQ และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้ลดลงเล็กน้อยเป็น 13.0% ในไตรมาส 4/66 จาก 13.2% ในไตรมาส 3/66

โดยคาดการณ์ผลขาดทุนสุทธิหลักลดลงเหลือ 2.6 พันล้านบาทในปี 67 จาก 7.6 พันล้านบาทในปี 66 โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของรายได้ 1% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เป็นเงินสดลดลง 2% ในปี 67E ซึ่งเป็นผลจากความต่อเนื่องของการปรับปรุงองค์กรให้ทันสมัยและการเลิกใช้เสาสัญญานโทรคมนาคม (ประหยัดค่าเช่าเสา) เราคาดว่าจำนวนเสาจะลดลง 3% ในปี 66 และ 13% ในปี 67 หุ้นราคาถูกกว่าคู่แข่งในธุรกิจโทรคมนาคมในอาเซียน

ทั้งนี้ TRUE ซื้อขายที่ EV/EBITDA ปี 67E ที่ 5.9 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ ADVANC ที่ 7.9 เท่า และค่าเฉลี่ยของกลุ่มโทรคมนาคมในอาเซียนที่ 6.9 เท่า เราเชื่อว่าราคาหุ้นที่ถูกเกิดจาก 

1) ผลขาดทุนหลักรายไตรมาสจำนวนมากในงวด 9M66 และ 

2) ข่าวคดีความ 2 คดีในช่วงปลายต.ค. 66 เชื่อว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะแพ้คดีเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากศาลปกครองกลางอาจใช้เวลา 2-3 ปีในการพิจารณาทั้งสองคดี ปัจจัยที่จะหนุนราคาหุ้น ได้แก่ EBITDA และผลขาดทุนรายไตรมาสที่ฟื้นตัวขึ้น



2.บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) AWC

ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่มุ่งตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรในประเทศไทย อันประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า และกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน 

  • วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
  • มาร์เก็ตแคป 130,570 ล้านบาท
  • ผลตอบแทนราคา YTD +14.61%
  • ราคาปิด 15 ก.พ.67 ที่ 4.04 บาท
  • P/E 25.67 เท่า 
  • P/BV 1.52 เท่า 

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของบริษัท ประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาได้มีมติอนุมัติการได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัท โดยการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำนวน 7 แปลง ตามโฉนดเลขที่ 2499, 128, 2497, 41, 671, 9277 และ 18090 ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ รวมเนื้อที่ดิน 5 ไร่ 3 งาน 39.5 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยมีมูลค่ารวมสุทธิจำนวน 519.8 ล้านบาท รวมค่าธรรมเนียมการโอนกึ่งหนึ่งและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

ขณะเดียวกันที่ประชุมมีมติอนุมัติงบฯลงทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาทรัพย์สินในที่ดินดังกล่าวจำนวนประมาณ 690.7 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม



3.บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) CPAXT

ประกอบธุรกิจค้าส่งภายใต้ชื่อ แม็คโคร ในประเทศไทยและต่างประเทศ และจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ลูกค้าที่เป็นสมาชิกบัตรแม็คโครซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งร้านค้าปลีกและกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและสถาบันต่างๆ และธุรกิจฟูดเซอร์วิสนำเข้าและจำหน่ายอาหารแช่แข็งและอาหารแช่เย็น ร้านอาหารและร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อีกทั้งบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจค้าปลีกและให้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้าภายใต้ชื่อ โลตัส ในประเทศไทยและต่างประเทศ

  • ธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • มาร์เก็ตแคป 317,410 ล้านบาท
  • ผลตอบแทนราคา YTD +11.11%
  • ราคาปิด 15 ก.พ.67 ที่ 32.75 บาท
  • P/E 40.54 เท่า 
  • P/BV 1.09 เท่า 

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ประเมินว่า CPAXT รายงานกำไรสุทธิ 4Q66 ที่ 3.3 พันล้านบาท +96% QoQ, +3.3% YoY โดยรวมทั้งปี 2566 มีกำไรสุทธิ 8.6 พันล้านบาท +12% YoY โดยบริษัทเตรียมควบรวมกับ Ek-Chai ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่ทำธุรกิจค้าปลีก (Lotus’s) เพื่อกลายเป็นบริษัทใหม่ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน CPAXT ภายใน 4Q67 

ทั้งนี้ มองว่าหุ้น CPAXT จะ “Outperform” ตลาดได้ เพราะ 

1) ระยะสั้นมีปัจจัยบวก จากกำไร 4Q66 ที่ออกมาดี

2) คาด 1Q67 ยอดขายจะหนุนโดย Easy E-receipt และตรุษจีน และ 

3) มี upside จาก synergy หลังการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ 

แต่ในเบื้องต้นยังคงประมาณการกำไรปี 2567 - 2568 ของ CPAXT ไว้ที่ 1.06 – 1.27 หมื่นล้านบาท และคงราคาเป้าหมายที่ 37.00 บาท โดย อิง PER 36.9 เท่า 

 

4.บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) BH

  • ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 
  • มาร์เก็ตแคป 193,952 ล้านบาท
  • ผลตอบแทนราคา YTD +9.91%
  • ราคาปิด 15 ก.พ.67 ที่ 247.00 บาท
  • P/E 28.42 เท่า 
  • P/BV 8.81 เท่า 

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ในปีนี้ BH จะมีการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง แม้มีการเติบโตเล็กน้อยจากฐานที่สูงในปี 2566 โดย BH จะเพิ่ม capacity ในการเปิดตึก Annex ในปี 2567 ซึ่งจะสามารถขยายการรับรองคนไข้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองที่ BH จะเติบโตในปี 2567 และมองว่า pent-up demand ของคนไข้ทั้งในไทยและต่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้มองว่าสงครามที่ตะวันออกกลางมีผลกระทบจำกัดต่อ BH โดยปัจจุบันคนไข้ตะวันออกกลางยังคงเดินทางมารักษาที่ BH ต่อเนื่อง โดยทางรพ.ยังไม่เห็นผลกระทบต่อคนไข้จากสงคราม

อีกทั้งยังมี upside จากจำนวนคนไข้ต่างชาติที่มากกว่าคาด โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย และขยายฐานลูกค้าต่อเนื่อง ทำให้กำไรของ BH เติบโตต่อเนื่อง และมองว่าราคาหุ้นลงมาค่อนข้างเยอะแล้ว และด้าน valuation ค่อนข้างถูก ซึ่งค่าเฉลี่ยกลุ่มเทรดที่ 29.1x นอกจากนี้รพ.ที่ภูเก็ตคาดจะเปิดในช่วง 2H25 ซึ่งจะขยายฐานลูกค้าและการเติบโตของ BH แต่อาจทำให้กดดันต่อกำไร BH ในปี 2025 จากการยังไม่คืนทุนของรพ.ภูเก็ต และค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้นในสาขาใหม่

 

5.ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) TTB

ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบแก่ลูกค้า 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย โดยมีกลุ่ม ไอเอ็นจี สถาบันการเงินของประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกับกระทรวงการคลัง

  • ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • มาร์เก็ตแคป 175,757 ล้านบาท
  • ผลตอบแทนราคา YTD +8.38%
  • ราคาปิด 15 ก.พ.67 ที่ 1.84 บาท
  • P/E 10.08 เท่า 
  • P/BV 0.79 เท่า

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า หุ้น TTB ปรับเพิ่มประมาณการสะท้อนการรับรู้ผลประโยชนท์างภาษีในช่วง 5 ปี ข้างหน้า โดยมีการปรับประมาณการกำไรสุทธิของ TTB ขึ้นตั้งแต่ปี 2567 เฉลี่ยปีละ 7% เพื่อสะท้อนถึงผลประโยชน์ทางภาษีจำนวน 15,500 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้เข้ามาในงบกำไรขาดทุนจนถึงปี 2571 

ทั้งนี้ ใช้สมมุติฐาน การรับรู้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบเฉลี่ยเส้นตรงปีละ 3,100 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี แต่มีโอกาสที่บริษัทจะรับรู้ ผลประโยชน์ทางภาษีเร็วกว่าประมาณการ หากมีการตั้งสำรองพิเศษเพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น โดยภายใต้ประมาณการใหม่ คาดปี 2567 TTB จะมีกำไรสุทธิ 20,175 ล้านบาท โต 9.3%YoY หนุนจากการ ตั้งสำรองที่มีแนวโน้มปรับตัวลง เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมี Coverage Ratio ที่สูงขึ้นมากแล้ว 

และพอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่ของ TTB มีการปรับชั้นหนี้โดยไม่ได้เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นของ ธปท. ทำให้ปริมาณลูกหนี้ Stage 2&3 จะไม่ต่างจากเดิมหลังมาตรการดังกล่าวครบกำหนดไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2566 อย่างไรก็ดี มองว่ากำไรก่อนการตั้งสำรองจะปรับตัวลงเล็กน้อย จาก NIM ที่ปรับตัวลง