‘อินโดรามา’ ตุนเงินสดหั่นลงทุน ธุรกิจกระทบหนักจากตลาดจีน - ต้นทุนดอกเบี้ย
อินโดรามาฯ ปรับแผนครั้งใหญ่เพิ่มสภาพคล่องเต็มสูบ นำ 2 ธุรกิจเข้าตลาดหุ้นสหรัฐในปีหน้ามูลค่าพันล้านดอลลาร์ หรือ 3.5 หมื่นล้าน ดัน EBITDA แตะ 60% เตรียมหั่นเงินลงทุนลงทุกปีจนเหลือ 2 หมื่นล้านในปี 2569 โดยยืนยันจำเป็นต้องปิด และย้ายฐานผลิตโรงงาน 6 แห่งรวด
นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จํากัด (มหาชน) หรือ IVL กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” แผน 3 ปี (2567-2569) โดยปี 2568 จะนำ 2 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจ IOD Downstream กับธุรกิจแพ็กเกจจิ้งเข้าระดมทุน (IPO) ในตลาดหุ้นสหรัฐ ตั้งเป้ามูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ ราว 35,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ พร้อมตั้งเป้ารายได้ปีนี้เพิ่มขึ้นระดับ 7-10% จะเน้นบริหารจัดการโรงงานให้มีประสิทธิภาพโดยมีแผนปิด และย้ายการผลิตโรงงาน 6 แห่งที่มีต้นทุนสูง เพราะธุรกิจบริษัทขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต โดยปีที่ผ่านมาบริษัทเดินเครื่องได้ 74% จึงตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตปี 2569 ที่ 89% จากปี 2567 ที่ 15 ล้านตัน เพื่อเพิ่มรายได้ระดับ 10% และ EBITDA ที่ 60%
ขณะแผนการใช้เงินลงทุนลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่ลงทุน 26,250 ล้านบาท มาอยู่ที่ 23,100 ในปี 2567 และปี 2569 มีแผนลดเงินลงทุนลงเหลือระดับ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โรงงานจีนมาแย่งตลาดซัพพลายเชนกลับมาปกติแต่กลับขายสินค้าน้อยลงเนื่องจากลูกค้าไม่ต้องสต็อกสินค้า
ช่วงปี 2565-2566 บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ดีมากกว่าปกติ เนื่องจากมีปัจจัยในเรื่องของปัญหาซัพพลายเชนที่ขาดตลาด ต่อมาปี 2566 ยอมรับว่าบริษัทต้องสูญเสียรายได้มากกว่าปกติ จนปี 2566 พลิกขาดทุน 10,797 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวโรงงานจีนมาแย่งตลาด ซัพพลายเชนกลับมาปกติ แทนที่บริษัทจะขายได้มากขึ้นแพงขึ้นก็ได้น้อยลง เนื่องจากลูกค้าไม่ต้องสต็อกสินค้าเพื่อกำลังการผลิตกลับสู่ระดับใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีกำลังการผลิตที่ 14.5 ล้านตัน
“ปี 2565-2565 กำลังผลิตอยู่ที่ 15.5 ล้านตัน ส่วนปี 2566 กำลังผลิตอยู่ที่ 14 ล้านตัน ซึ่งเมื่อรวมกำลังผลิตและราคาที่ต้องขายถูกกว่าจึงทำให้รายได้ลดน้อยลงด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเฉลี่ยกำลังผลิตทั้ง 5 ปี จึงมีค่าเฉลี่ยกำลังการผลิตอยู่ที่ 14.9 ล้านตัน ถือว่าไม่แตกต่างมากนักแต่สิ่งที่แตกต่างคือ ในเรื่องของรายได้ที่ต้องขายถูกเพราะโดนตลาดจีนตี และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น”
อย่างไรก็ตาม หากมองในด้านความต้องการจะเห็นว่า 80% ของสินค้าที่ IVL ผลิตจะใช้ในสินค้าที่มีอยู่รอบตัวมีในชีวิตประจำวัน จึงถือเป็นสิ่งของจำเป็นของผู้บริโภคตรงกันข้ามกับสินค้าที่คงทน โดยสิ่งที่บริษัทผลิตไม่ใช่สินค้าที่นำไปใช้ระยะยาว จึงจะมีปริมาณการขายที่มาก
สื่อต่างประเทศรายงานระบุว่า IVL กำลังเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ เช่น การเร่งขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดหนี้สุทธิให้ได้มากกว่า 1 ใน 3 ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยธุรกิจของ IVL ได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของอุปสงค์จากจีนซึ่งกระตุ้นให้เกิดการส่งออกสินค้าในราคาถูก รวมถึงอุปสรรคด้านเศรษฐกิจมหภาค และภูมิรัฐศาสตร์ จนบริษัทประสบปัญหาขาดทุนสุทธิ 302 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งเป็นผลประกอบการที่ย่ำแย่ที่สุดของบริษัท IVL มีโรงงานกว่า 140 แห่งใน 35 ประเทศ และผลิตสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีประเภทต่างๆ เช่น โพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (Polyethylene Terephthalate) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในการผลิตขวดพลาสติก
สำหรับอินโดรามาดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจ PET พลาสติกที่ทำขวดน้ำดื่ม 2. ธุรกิจไฟเบอร์ และ 3. กลุ่มธุรกิจ IOD ถือว่ามีการเติบโตที่ดีทั้ง140 โรงงาน ใน 35 ประเทศ ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหลากหลายประเภทถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก เช่น โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลตที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในขวดพลาสติกธุรกิจยานยนต์ อาทิ ล้อรถยนต์ ถุงลมนิรภัยรวมถึงรีไซเคิลรายใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีสารตั้งต้นหลายอย่าง รวมถึงสนับสนุนในกลุ่มไลฟ์สไตล์ อาทิ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มสุขอนามัย เช่น หน้ากากอนามัย และแพมเพิส เป็นต้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์