GULF จ่อบุ๊กกำไร‘โรงไฟฟ้าขยะ’ พันล้าน หลังผนึก ETC - BWG
GULF ประกาศบิ๊กดีลผนึก ETC-BWG ร่วมทุน 2.08 หมื่นล้าน ลุยพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม-โรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะ 12 โครงการ กำลังผลิต 96 เมกะวัตต์ “ยุพาพิน” เผยคาดเริ่มรับรู้รายได้ปี 70 รวมกว่า 6 พันล้านต่อปี ทำกำไรรวมให้กัลฟ์ตามสัดส่วนลงทุน 700-800 ล้านบาทต่อปี
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าลงทุนโครงการในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 10 โครงการ และโครงการโรงงานผลิต เชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ด้วยการร่วมลงทุน เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2567 ให้บริษัท กัลฟ์ เวสท์ ทูเอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ GWTE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้น 100 % ได้ลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นกับ บมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) และ บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 20,800 ล้านบาท ดังนี้
1.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE เพื่อเข้าลงทุนใน บริษัท เก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด GGP ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้ารวม 80 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนการถือหุ้น 50 : 50 มูลค่าโครงการรวม 15,000 ล้านบาท ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นระยะเวลา 20 ปี ไปเมื่อ 16 ต.ค. 2566 แล้ว กำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2569
2.การลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง BWG กับ GWTE เพื่อเข้าร่วมลงทุนในบริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด (CC) ผู้พัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) จำนวน 3 โครงการ ในสัดส่วนการถือหุ้น 50 : 50 เช่นกัน มูลค่าโครงการรวม 2,600 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายเชื้อเพลิง SRF ให้กับโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 12 โครงการ
3.การลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง ETC กับ GWTE และบริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) เพื่อให้ ETC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (SIP) โดยการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่ง GWTE และ WTX ถือหุ้นอยู่ 51% และ 49% ตามลำดับ ซึ่งภายหลังจากการเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน SIP ของ ETC อยู่ที่ 33% GWTE อยู่ที่ 34% และ WTX อยู่ที่ 33% ซึ่งปัจจุบัน SIP มีการดำเนินการไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 2 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 3,200 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นระยะเวลา 20 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวข้างต้น กลุ่มบริษัทจะมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในไทยที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ภายใต้รูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) จำนวน 12 โครงการ ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 96 เมกะวัตต์
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในเบื้องต้นการลงทุนดังกล่าวทั้ง 12 โครงการ คาดสร้างรายได้รวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาทต่อปี และสามารถทำกำไรให้กับบริษัทตามสัดส่วนที่เข้าไปลงทุน รวมทั้งสิ้น 700-800 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการส่วนใหญ่จะเริ่มเปิด COD ในปี 2569 และในปี 2570 เริ่มทยอยรับรู้รายได้
“แผนการลงทุนดังกล่าว เป็นไปตามแผนที่เราได้มีการเจรจาเข้าลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว ถือเป็นโครงการลงทุนค่อนข้างใหญ่ และสร้างรายได้ให้เราค่อนข้างมาก จะช่วยผลักดันการเติบโตของเราในระยะข้างหน้า”
ทั้งนี้ แนวโน้มการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ยังถือว่าทำได้ตามแผนที่วางไว้ และจะมาช่วยผลักดันเป้าหมายรายได้รวมของปี 2567 ตั้งไว้เติบโต ที่ 25-30% จากปีก่อน
มาจากการเปิด COD โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกองหน่วยที่ 1.โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GPD หน่วยที่ 3 และ 4 เริ่ม COD เดือนมี.ค. และ ต.ค. 2567 อีกทั้ง ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ของกลุ่ม GULF1 จะทยอยเปิดดำเนินการเพิ่มอีก 120 เมกะวัตต์ในปีนี้