‘ไทยเครดิต’ลุยสินเชื่อรายย่อย ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปีนี้โตเลขสองหลัก
“ไทยเครดิต” ปรับทัพใหม่ตั้ง “รอยย์” นั่งซีอีโอแทน “วิญญู” สั่งลุยสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี-สินเชื่อนาโน-ไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย เผยปี 67 ตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อโตเลขสองหลัก ต่อปี รวมทั้งมีผลตอบแทนสูง ด้วยโครงสร้างเงินทุนที่ต้นทุนต่ำ
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ CREDIT ครั้งที่ 2/2567 รับทราบการลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ นายวิญญู ไชยวรรณ มีผลตั้งแต่ 22 มี.ค. 2567 โดยนายวิญญู ยังคงดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการกำกับความเสี่ยง และกรรมการ บรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ อนุมัติการแต่งตั้ง นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา นั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมอนุมัติการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรของธนาคารฯ ให้คงเหลือเพียงตำแหน่งซีอีโอเพื่อให้มีความเหมาะสมและรองรับการเติบโต
นายกิตติพันธ์ ศรีวรรณวิทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงาน (สายงานการเงินและบัญชี) ธนาคารไทยเครดิต หรือ CREDIT กล่าวว่า การแต่งตั้ง นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน นายวิญญู ไชยวรรณ มีผลตั้งแต่ 22 มี.ค.2567 ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหลือเพียงซีอีโอตำแหน่งเดียว เพื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดย นายวิญญู ยังมีตำแหน่งที่บริษัทไทยประกันชีวิตด้วย และเพื่อให้ซีอีโอสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และยังคงกลยุทธ์เช่นเดิม โดยเฉพาะสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโน และไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย แต่มีโฟกัสและราบรื่นมากขึ้น
“นายรอยย์ มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับนายวิญญู มากกว่า 12 ปี และการปรับโครงสร้างเพื่อการตัดสินใจและให้การบริหารให้มีโฟกัสมากขึ้น ขณะที่กลยุทธ์ของธนาคารในระยะต่อไปยังเหมือนเดิม”
สำหรับกลยุทธ์ของธนาคารในปี 2567 ยังคงรักษาการเติบโตต่อเนื่อง โดยการระดมทุนผ่านหุ้น IPO จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารงาน เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อได้ต่อเนื่อง
โดยปี 2567 ธนาคารตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อเติบโตระดับเลขสองหลักต่อปี รวมทั้งมีผลตอบแทนสูง ด้วยโครงสร้างเงินทุนที่ต้นทุนต่ำ ในแง่ปล่อยสินเชื่อและผลประกอบการ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเชิงระบบเศรษฐกิจที่มีค่อนข้างสูง และ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 8-8.25% คาด ROE ปีนี้ ยู่ที่ 18-22% จากปีก่อนอยู่ที่ 22.3%
“เรากำหนดจ่ายปันผล 5-20% ของกำไรสุทธิของปีนั้น แต่เพิ่งเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ และได้ฟันด์ดิ่งมาระดับหนึ่ง จึงยังเน้นโฟกัสไปที่การสร้างตอบแทนของ ROE ระดับที่สามารถดำเนินการได้ และมุ่งสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เรายังมีมาร์เก็ตแชร์น้อย ทำให้มีโอกาสเติบโตอีกมาก”
ขณะที่ แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดยังคุมได้ไม่เกิน 4.5% จากปีก่อนที่ 4% แม้ปีนี้แนวโน้ม NPL มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากภาระหนี้ลูกค้าในกลุ่มที่ยังคงต้องมีการให้ความช่วยเหลือเป็นระยะๆ ทุกครั้งที่มีการให้ความช่วยเหลือ ยีลด์จะปรับลดลง และการตั้งสำรองระมัดระวังและการตั้งสำรองส่วนเกิน ส่งผลให้เครดิตครอสยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป แต่ทั้งปีนี้ ยังน่าจะอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ได้
ทั้งนี้ ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่ออาจมีการเร่งขึ้นบ้างแต่ไม่มากอยู่ที่ 2.9-3.5% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.9% นอกจากนี้ หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาส 2 ปีนี้ มองว่าไม่ได้กระทบต่อธนาคารมากนัก เพราะการปรับลดดอกเบี้ย ทำให้การแข่งขันแคมเปญดอกเบี้ยลดลง และสัดส่วน CASA มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงจะได้ประโยชน์มีโอกาสทยอยลดลงได้
รวมถึงการที่ธปท. จะมีหลักเกณฑ์ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมนั้น มองว่ามุ่งไปที่ภาระหนี้ที่เกิดจากหนี้ครัวเรือน ประเมินว่าคงกระทบแต่จำกัด เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อบุคคลรายย่อย ของธนาคารเน้นกลุ่มรายย่อยที่มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาท บาท ไม่ใช่กลุ่มรายได้ต่อเดือน 15,000 บาท ในส่วนสินเชื่ออเนกประสงค์เน้นให้ลูกค้ารวมหนี้ เพื่อลดดอกเบี้ยเป็นหลัก เพื่อให้มีเงินเพียงพอใช้จ่าย