บ่วงหนี้ ‘ไอทีดี’ รัดแบงก์ใหญ่ตั้งการ์ดสูง
ระเบิดปรมาณูลูกใหญ่ “หนี้เสีย “ กดดันหุ้นแบงก์ใหญ่อีกระลอกเมื่อมีชื่อบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เกี่ยวข้อง จากปัญหาสภาพคล่องติดตัวแดงด้วยหุ้นกู้ 5 ชุด มูลค่า 14,455 ล้านบาท ขอผ่อนผันชำระหนี้ และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้หุ้นกู้
เม็ดเงินก้อนใหญ่ยังไม่หมดเมื่อยังมีสินเชื่อที่ใช้หล่อเลี้ยงธุรกิจซึ่งเผชิญขาดทุนปี 2565 ที่ 4,758 ล้านบาท สำหรับงบปี 2566 ยังไม่ปรากฏงบไตรมาส 4 และปี 2566 เนื่องจากขอผ่อนผันส่งงบล่าช้าเป็น 29 มี.ค.2567 แทน
เพียงเดือนม.ค. สัญญาณร้าย ITD ต้องเผชิญการแก้ไขหนี้หุ้นกู้ ตามมาด้วยเดือนก.พ. ปัญหาคนงานตามไซต์ก่อสร้างประท้วงส่งผลทำให้บริษัทออกมายอมรับ "ยังขาดสภาพคล่องทางการเงินจริง” ทำให้การจ่ายเงินเดือนพนักงานไม่ครบถ้วน และมีแรงงานบางส่วนลาออก บางส่วนหยุดงาน ซึ่งมีการแก้ไขจ่ายเงินบางส่วนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายไปก่อน และธนาคารที่สนับสนุนโครงการต่างๆ ก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือบ้างแล้ว
เนื่องจากรายรับจากโครงการยังน้อยกว่าค่าใช้จ่ายบริษัท จึงต้องขอกู้ยืมเงินจากธนาคารเพิ่มเติมเพื่อนำเงินมาบริหารกิจการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอสินเชื่อ และเจรจากับธนาคารที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าภายหลังจากที่ได้รับสินเชื่อใหม่แล้ว อีกประมาณ 2-3 เดือน สถานการณ์บริษัทจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
กลุ่มธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ ITD ที่ถูกตั้งเป้าหมายของธนาคารในกลุ่มนี้ ตั้งโผ 4-5 แบงก์ใหญ่ ซึ่งหนีไม่พ้น BBL คาดที่ 8,000 ล้านบาท SCB คาดที่ 6,000 ล้านบาท KBANK คาดที่ 6,000 ล้านบาท และ KTB คาดที่ 4,000 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในแบงก์ดังกล่าว KTB เริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวโยงถึง ITD ล่าสุดผู้บริหารให้มุมมองธุรกิจปี 2567 และถูกถามถึงการตั้งสำรองก้อนใหญ่ได้ตั้งสำรอง 100% รองรับความเสี่ยงของ “ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่รายหนึ่งที่เผชิญกับความเสี่ยง” ด้านสภาพคล่องเมื่อไตรมาส 4/2566
ปัจจุบัน ลูกค้ารายดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทสินเชื่อระยะที่ 2 ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) สำหรับลูกค้าดังกล่าวครอบคลุมจำนวนสินเชื่อรวมทั้งหมด ส่งผลเป็นบวกต่อหุ้น KTB ทันที
สวนทางกับบรรดาแบงก์ใหญ่ที่เหลือกลับเผชิญแรงขายแทน ทั้งที่หุ้นแบงก์จะเริ่มทยอยขึ้นเครื่องหมาย XD รับเงินปันผลครึ่งปีหลัง 2566 ช่วงเดือนเม.ย. นี้แล้ว เช่น SCBx รับปันผล 7.84 บาท วันที่ 17 เม.ย. หุ้น KBANK ปันผล 6.00 บาท วันที่ 22 เม.ย. เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จับตามองไปที่ตัวเลขการตั้งสำรองของธนาคารขนาดใหญ่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ผ่านมา BBL ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องไตรมาสเดียวกันปีก่อน แม้จะลดลง 18% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ SCBx รายงานตั้งสำรอง 9,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ KBANK ตั้งสำรองราว 26,387 ล้านบาทลดลง จากช่วงเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อน แต่ทั้งปี 2566 ตั้งสำรองใกล้เคียงปีก่อนราว 51,840 ล้านบาท
สะท้อนได้ดีกว่าแบงก์ใหญ่เห็นสัญญาณร้าย และเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าอย่างพร้อมเพรียง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์