หุ้น ITD หัวทิ่มปักฟลอร์เฉียด 30% ปี 66 ขาดทุน 1.07 พันล้าน 'โบรกเกอร์' แนะเลี่ยงลงทุน
ITD ดิ่งหนัก 29.41% หรือราคาร่วง 0.25% หรือระดับราคาอยู่ที่ 0.60 บาท 'โบรกเกอร์' แนะเลี่ยงลงทุน หลังขาดสภาพคล่องหนัก ล่าสุดงบปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 1,072 ล้านบาท ลดลง 77% จากปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ 4,759 ล้านบาท
KEY
POINTS
- หุ้น ITD ดิ่งหนัก 29.41% หรือราคาร่วง 0.25% หรือระดับราคาอยู่ที่ 0.60 บาท
- บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุ ITD มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ส่วนใหญ่รับงานที่อิงกับภาครัฐและงบประมาณรัฐเพิ่งผ่านได้มาไม่นาน จากที่ล้าช้าไปเกือบปี ทำให้สายป่านเงินสดไม่พอเข้าบริษัท
- แนะนำ นักลงทุนควรหลีกเลี่ยง ขณะที่แบงก์ใหญ่ที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับ ITD มากสุดคือ แบงก์ BBL น้อยที่สุดคือ KTB
ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยภาคเช้า ณ วันที่ 1 เมษายน 2567 หุ้น ITD หรือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ดิ่งหนัก 29.41% หรือราคาร่วง 0.25% หรือระดับราคาอยู่ที่ 0.60 บาท
กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า บริษัทมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และ ITD ส่วนใหญ่รับงานที่อิงกับภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ และงบประมาณรัฐเพิ่งผ่านมาได้ไม่นาน จากที่ล่าช้าไปเกือบปี ทำให้สายป่านเงินสดไม่พอเข้าบริษัท และช่วงที่ผ่านมาอุปสงค์ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างแข่งขันกันค่อนข้างรุนแรง อย่าง รัฐสภาแห่งใหม่ที่เพิ่งสร้างมาร์จินที่ STEC ทำได้ค่อนข้างต่ำเช่นกัน ไม่ได้กำไรมากนัก เพราะเพิ่งผ่านงบประมาณ
"ส่วนใหญ่ ITD ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องเป็นอย่างมาก แนะนำนักลงทุนควรหลีกเลี่ยง ขณะที่แบงก์ใหญ่ที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับ ITD มากสุดคือ แบงก์ BBL น้อยที่สุดคือ KTB เพราะฉะนั้นหลังจากนี้จะมีการประชุม กนง. ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้หรือรอบหน้า แต่แบงก์ใหญ่ปัจจุบันก็ยังไม่น่าสนใจเพราะมีเรื่อง ITD เข้ามาด้วย"
ล่าสุด ITD รายงานงบการเงินของปี 2566 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ขาดทุนสุทธิ 1,072 ล้านบาท ลดลง 77% จากปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ 4,759 ล้านบาท โดยสาเหตุจากรายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง 56,936 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2,719 ล้านบาท
ทั้งนี้เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการก่อสร้างของโครงการที่ใกล้แล้วเสร็จ รวมถึงการปรับปรุงรายได้จากการให้บริการก่อสร้างเนื่องจากต้นทุนการให้บริการรับเหมาก่อสร้างบางรายการ ยังไม่ส่งมอบบริการให้ลูกค้าทำให้ไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้จากการให้บริการก่อสร้าง และปรับปรุงต้นทุนดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ต้นทุนการทำงานให้เสร็จสิ้นตามสัญญา ส่วนรายได้จากการขาย และให้บริการ ลดลง 986 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลดลงของรายได้จากการให้บริการโครงการเหมืองแร่
ขณะที่กำไรขั้นต้น 3,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2566 เท่ากับ 6.26% เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 4% เพราะกำไรเพิ่มขึ้นของบริษัทย่อยบางแห่ง รวมถึงการลดลงของผลขาดทุนจากการให้บริการก่อสร้างในต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากงบการเงินปี 2566 ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัทตรวจสอบ และรับรองงบการเงินรวม และงบการเงินเฉพาะกิจการของกลุ่มบริษัท โดยไม่แสดงความเห็นด้วยเหตุที่ได้พิจารณาสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท
ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 ระบุว่า สำหรับปีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2566 กลุ่มบริษัทขาดทุนหลังภาษี 421.54 ล้านบาท และ 194.87 ล้านบาท ตามลำดับ มีขาดทุนสะสม 6,426.67 ล้านบาท และ 5,390.66 ล้านบาท ตามลำดับ (2565 : 4,475.58 ล้านบาท และ 3,622.58 ล้านบาท) อีกทั้งมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน 26,711.54 ล้านบาท และ 29,977.68 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้น จากตั๋วสัญญาใช้เงิน และทรัสต์รีซีต/เลตเตอร์ออฟเครดิต และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ถูกจัดประเภทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น หุ้นกู้และหุ้นกู้ที่ถูกจัดประเภทเป็นหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ณ วันที่ 31ธ.ค.2566 บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ในการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งคำนวณจากงบการเงินรวมที่ถูกกำหนดในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินบางแห่ง
การผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ดังกล่าวข้างต้น แบงก์มีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืม ทั้งนี้ แบงก์ไม่ได้ดำเนินการลักษณะดังกล่าว และได้รับหนังสือจากแบงก์ให้ความยินยอม และผ่อนผันเงื่อนไขในวันที่ 29 ก.พ.2567 และ 18 มี.ค.2567
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์