'ไพบูลย์' กังวลตึงเครียดอิหร่าน-อิสราเอล ดันเงินเฟ้อพุ่ง สะเทือนทั้งโลก

'ไพบูลย์' กังวลตึงเครียดอิหร่าน-อิสราเอล ดันเงินเฟ้อพุ่ง สะเทือนทั้งโลก

กูรูหุ้นไทย "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ชี้ระยะสั้นตึงเครียดอิหร่าน-อิสราเอล ครั้งใหม่ ฉุดเซ็นทริเม้นต์หุ้นไทยชะลอตัวลง 1-2 สัปดาห์หากไม่บานปลาย คาดไซด์เวย์ ไม่หลุด 1,300 จุด แต่กังวลความเสี่ยงระยะถัดไป ดันเงินเฟ้อพุ่ง เฟดค้างดบ.สูงนาน ศก.สหรัฐฮาร์ดแลนด์ดิ้ง สะเทือนโลก

หลังจากมีรายงานว่าหลายฉบับระบุว่า อิสราเอลได้ดำเนินการตอบโต้อิหร่าน โดยเกิดเหตุระเบิดที่อิหร่าน อิรักและซีเรีย  ช่วงเช้าวันนี้ (19 เม.ย.) ตลาดหุ้นไทย ร่วงแรง โดยปิดที่ 1,335.93 จุด ลดลง 25.09 จุด หรือ ลดลง 1.84% ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 2.9 หมื่นล้านบาท 

ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวลดลง ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว 2% และทองคำ ปรับตัวขึ้น 1% 

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยช่วงบ่ายนี้ เริ่มทรงตัวได้ หลังจากอิหร่านออกมาให้ความเห็นว่ายังไม่มีแผนโต้ตอบอิสราเอลในทันที  จนกว่าจะได้ข้อสรุป ผู่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้  ดัชนีตลาดหุ้นไทย (ณ 14.30 น.) ปรับตัวลง 20.76 จุด อยู่ที่ระดับ 1,340.26 จุด  ต่ำสุดที่ 1,333.61 จุด และสูงสุดที่ 1,343.32 จุด 

 

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เปิดมุมมองทิศทางของกูรู ผู้คร่ำหวอดในวงการตลาดหุ้นไทย  "นายไพบูลย์ นลินทรางกูร"  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า  ระยะสั้นยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้ง ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอย่างใกล้ชิด เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นไทย แต่แน่นอนว่า เมื่อเกิดภาวะสงครามย่อมส่งผลทางอ้อมในเชิงเซ็นทริเมนต์การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทย

หากสถานการณ์มีการตอบโต้ แต่สถานการณ์ไม่รุนแรงขึ้น คาดว่า ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงราว 1-2 สัปดาห์ และหลังจากนั้นจะฟื้นตัวได้ เช่นเดียวกับช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งในช่วงแรกๆมีความรุนแรงมากกว่า และปัจจุบันยังคงตอบโต้กันยืดเยื้อ ก็ไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก

สำหรับตลาดหุ้นไทยระยะสั้น คาดว่าดัชนีน่าจะแกว่งตัวไซด์เวย์ระดับ 1,300-1,400 จุด  เนื่องจากตลาดหุ้นไทย Underperform ตลาดหุ้นในภูมิภาคไปมากแล้ว  และการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติไม่มากแล้ว รอเพียงปัจจัยใหม่นอกประเทศหนุนตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นในระยะถัดไป   

 

 

 

ดังนั้นมองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย ยังไม่น่าจะปรับตัวลงแรงจนหลุด 1,300 จุดไปได้ ยกเว้นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลรอบนี้จะนำไปสู่ภาวะสงครามโลกครั้งใหม่ หรือ นำไปสู่ความกังวลเงินเฟ้อทยายขึ้น จนทำให้เฟดยืนดอกเบี้ยสูงเป็นระยะเวลานาน จนถึงขั้นเลวร้ายกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยรุนแรง  (Hard Landing) ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่กำลังฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ยอมรับว่า ค่อนข้างกังวลในระยะถัดไปอย่างมาก เพราะหากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และทิศทางตลาดหุ้นไทย หากเกิดขึ้นจริงคงต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่

"ในระยะถัดไป ต้องติดตามผลของสถานการณ์ความขัดแย้งรอบนี้ ว่าจะทำให้ราคาน้ำมัน ค่าระวางเรือ ปรับขึ้นมากแค่ไหน จนทำให้เงินเฟ้อกลับมาขยับสูงขึ้นอีกหรือไม่"  

นอกจากนี้มองว่า  การทำชอร์ตเซลในตลาดหุ้นไทย ไม่น่าจะมีผล เพราะการทำชอร์ตเซลเชิงกลยุทธ์ จริงๆ แล้วต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐาน ประเมินโอกาสและความเสี่ยงเข้าลงทุนเป็นหลักอีกทั้งตอนนี้กลยุทธ์การทำชอร์ตเซลในตลอดนี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยงเช่นกัน และหากมีการทำชอร์ตเซลปริมาณมากๆ ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยผิดปกติ โดยปกติแล้วทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็มีมาตรมาตรการกำกับดูแลเสถียรภาพในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว 

นายไพบูลย์ แนะนำนักลงทุนว่า ช่วงระยะสั้นรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลจนกว่าจะคลี่คลาย  อาจยังไม่ใช่จังหวะเข้าลงทุน 

แต่ด้วยระดับราคาหุ้นไทย ถือว่าต่ำกว่าในอดีตและตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค และมีการจ่ายปันผล ดังนั้นมองว่า ในบางจังวะที่ดัชนีย่อตัวลง มองเป็นเป็นโอกาสเข้าสะสมหุ้นกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น กลุ่มโรงพยาบาล และหุ้นกลุ่ม Defensive  ที่ทนทานต่อทุกภาวะตลาดทั้งขาขึ้นและขาลง