จับตาญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงิน! หลังเยนอ่อนค่า ต่ำสุดรอบ 34 ปี
มีการประชุม BOJ ในวันพรุ่งนี้ (26 เม.ย.2567) หลังรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ส่งคำเตือนว่ามีโอกาสเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนอีกครั้ง ใช้วงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.35 ล้านล้านเยน หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลงแตะระดับ 151.95 เทียบดอลลาร์ เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี
บล.เอเชีย พลัส ระบุว่า ธนาคารกลางหลายแห่ง ยังส่งสัญญาณ HAWKISH โดยเริ่มที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 6.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในการประชุมวานนี้ โดยการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีเป้าหมายที่จะพยุงค่าเงินรูเปียห์ หลังจากรูเปียห์ดิ่งลง 5% YTD และทำจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เกิด COVID-19 อีกทั้งยังมีสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตะวันออกกลาง
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มีปัญหาเรื่องค่าเงินอ่อนค่าเช่นกัน โดยล่าสุดรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น ส่งคำเตือนว่ามีโอกาสเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ได้เข้าแทรกแซงในเดือนต.ค.2565 โดยใช้วงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.35 ล้านล้านเยน หรือ 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลงแตะระดับ 151.95 เทียบดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าการแทรกแซงค่าเงินเยนจะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ เนื่องด้วยจะมีการประชุม BOJ ในวันพรุ่งนี้ (26 เม.ย.2567) ซึ่งหาก BOJ คงหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็เป็นแรงช่วยให้ค่าเงินเยนชะลอการอ่อนค่าได้ระดับหนึ่ง
"ประเทศในโซนเอเชียทั้งญี่ปุ่น และ อินโดนีเซีย ธนาคารกลางยังส่งสัญญาณ HAWKISH เพื่อควบคุมค่าเงินของประเทศตนเองให้ไม่อ่อนค่าไปมากกว่านี้ จึงทำให้ FLOW ต่างชาติมีเคลื่อนย้ายจากหุ้นในฝั่งยุโรป/สหรัฐฯ มาอยู่ฝั่งเอเชียในระยะถัดไป"
ขณะเดียวกัน วานนี้ในการประชุมนักวิเคราะห์ (ANALYST MEETING) ครั้งที่ 1/2567 ธปท. มีมุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ 2.5% เป็นระดับที่เหมาะสมเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจบ้านเราในระยะปานกลาง-ยาว ประเมิน GDP GROWTH ปี 2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดเพียงแค่ +1.9% เป็นเพราะการใช้จ่ายภาครัฐฯ หดตัว หลังเบิกจ่ายล่าช้า การส่งออกชะลอตัว ตามเศรษฐกิจโลก บวกกับสินค้าคงคลังพุ่งสูง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ไม่ได้กลับมาฟื้นตัวด้วยการปรับลดดอกเบี้ย
ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2567-67 ยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องที่ +2.6% และ +3.0% ตามลำดับ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการเร่งใช้จ่ายภาครัฐฯ เฉพาะในช่วง 2H67 มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งโครงการ DIGITAL WALLET ค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งรายรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัว หนุนการบริโภคภาคเอกชนเติบโต รวมถึงการส่งออกทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนเงินเฟ้อไทยประเมินทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% ในปี 2567 แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้
นอกจากนี้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้นในบางกลุ่ม (SME, ครัวเรือนรายได้น้อย) แต่ไม่เป็นข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจโดยรวม และกลไกสินเชื่อยังทำงานได้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับเสถียรภาพระบบการเงิน คุณภาพสินเชื่อปรับลดลงในบางหมวดเช่น รถยนต์ อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพจะไม่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด
ฝ่ายวิจัยประเมินว่า ธปท. ค่อนข้างมีมุมองบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจจะเห็นการคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.5% ไว้อีกระยะหนึ่ง ถือเป็นปัจจัยหนุนให้เงินบาทชะลอการอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม กนง. พร้อมที่จะทบทวนนโยบายดอกเบี้ย หากมีข้อมูลใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยฯ
ในมุมของ VALUATION ภายใต้สมมุติฐาน MARKET EARNING YIELD GAP 3.3% และ กนง. ยังคงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% และ EPS67F ล่าสุดอยู่ที่ 91.4 บาท/หุ้น จะได้กรอบ SET INDEX เป้าหมายปลายปีที่ระดับ 1570 - 1580 จุด ซึ่งยังมี UPSIDE สูงกว่าระดับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ทั้งบาทมีโอกาสชะลอการอ่อนค่า และ VALUATIONของ SET INDEX ที่ยังน่าสะสม ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ FLOW ต่างชาติมีโอกาสทยอยไหลเข้าในระยะถัดไป
โดย ดัชนีปัจจุบันยังห่างจากกรอบดัชนีเป้าหมายที่ 1570 – 1580 จุด พอสมควร และค่าเงินบาทมีโอกาสชะลอการอ่อนค่าจาก กนง.ส่งสัญญาณ HAWKISH ถือเป็นโอกาสสะสมหุ้นพื้นฐานดี กำไรงาม เป้าหมาย FLOW ต่างชาติ อาทิ KBANK, SCB,BBL, TISCO, PTT, PTTEP, PTTGC, OR, IVL, SCC, CPN, CPALL, CRC เป็นต้น