Sell in May จะเกิดหรือไม่ Stay Invested อย่างไร เพื่อรับมือความผันผวนของตลาด
Sell in May หรือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น และการ Stay invested มารวมกัน จึงควรหาสินทรัพย์ ที่ทำให้เรายังสามารถลงทุนได้ โดยลดความกังวลใจด้านความผันผวน
เข้าสู่เดือน พ.ค. ฤดูร้อนของฝั่งตะวันตก กับการกลับมาของกระแส ‘Sell in May and Go Away’ หรือ การขายสินทรัพย์เสี่ยงจำพวกหุ้นในเดือน พ.ค. โดยแนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ หากแต่ถูกพูดถึงจากนักลงทุนทั่วโลกทุกปี ตามความเชื่อที่ว่านักลงทุนมักขายทำกำไรในเดือนนี้ หลังรับรู้ทิศทางผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสหนึ่งแล้ว
ย้อนหลังไป 14 ปี ในช่วงปี 2553-2566 พบว่า เดือน พ.ค. มักเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวลงของตลาดหุ้น โดยสถิติในเดือนนี้ ดัชนีหุ้นโลก MSCI World ปิดลบเฉลี่ย -1.2% และพบว่ามีจำนวน 7 ครั้ง จากทั้งหมด 14 ครั้ง ที่เดือน พ.ค. ให้ผลตอบแทนติดลบ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่เราอาจเห็นการเกิด Sell in May อีกครั้งในปีนี้
สำหรับในเดือน พ.ค. ปี 2567 นักลงทุนอาจต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น จากความไม่แน่นอนในตลาดที่ยังคงอยู่ ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ค้างสูงนานกว่าคาด และระดับราคาของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นสูงจนอยู่ในระดับตึงตัว
หาก Sell in May กลับมาเกิดขึ้นจริง แล้วนักลงทุนควรรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร?
เมื่อประเมินสถานการณ์อย่างระมัดระวังตามปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ข้อ พบว่า แม้สงครามอาจยังไม่จบในระยะเวลาอันสั้น แต่ระดับความรุนแรงอาจไม่เลวร้ายอย่างที่หลายคนเป็นกังวล และมองว่า ราคาหุ้นที่แพงขึ้นมาแล้ว แต่หากเศรษฐกิจยังขยายตัวไปได้ หุ้นเหล่านั้นก็มีโอกาสสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นในระยะยาวได้เช่นกัน ดังนั้น Sell in May ที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นเพียงการขายทำกำไรในระยะสั้นและจะไม่ได้รุนแรงเหมือนที่กังวลกันก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนของตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม และ ความกังวลใจต่อความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เรากลับมาพิจารณาว่า มีโอกาสการลงทุนอย่างไรอีกบ้างที่เป็นไปได้ บนข้อสมมุติที่ผมตั้งขึ้นไว้ว่า เราควรที่จะ Stay invested หรือเลือกที่จะลงทุน ไม่หลีกเลี่ยงถือเงินสดที่หาผลตอบแทนไม่ได้และสูญเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
หากนำสองเรื่อง คือ Sell in May หรือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น และการ Stay invested มารวมกัน เราจึงควรหาสินทรัพย์ ที่ทำให้เรายังสามารถลงทุนได้ โดยลดความกังวลใจด้านความผันผวน ซึ่งในที่นี้ผมนำเสนอไอเดียของการลงทุนเป็น 2 อย่างด้วยกันคือ
1. การลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ด้วยตราสารหนี้ระยะสั้น และ กองทุนที่มีการปกป้องเงินต้น ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกในการลงทุนเหล่านี้ในตลาดเป็นจำนวนมาก และบางกองทุนเปิดโอกาสให้สร้างผลตอบแทนคล้ายการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แต่ยังคงดูแลเงินต้นไว้ได้ด้วยที่อยากให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณา
2. กลุ่มสินทรัพย์ทางเลือก ประเภท กองทุน Private Debt หรือตราสารหนี้นอกตลาดของบริษัทเอกชน ที่กำลังออกและเสนอขายในเดือน พ.ค.นี้ หลายผลิตภัณฑ์ โดยสินทรัพย์กลุ่มนี้จำกัดผู้ลงทุนไว้เฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ แต่มีความน่าสนใจคือ เป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนด้านราคาที่น้อย จึงถือเป็นการกระจายความเสี่ยง ลดความผันผวนพอร์ตผ่านการลงทุนสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนมักไม่อ่อนไหวไปกับตลาด ทั้งนี้ กองทุน Private Debt เป็นการระดมเงินทุนเพื่อลงทุนในสินเชื่อโดยตรงกับบริษัทที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว (เช่น สหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป)
โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่คัดเลือกบริษัทที่คาดว่ามีศักยภาพในการดำเนินงาน ที่กองทุนมีอำนาจต่อรองขอหลักประกันมาให้พอเพียงกับมูลค่าสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยง ขณะเดียวกันสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้อยากขอให้ผู้อ่านพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนประเภทนี้เพิ่มเติม ที่อาจมีบางกองทุนอาจมีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนที่ค่อนข้างนานเป็นเวลาหลายเดือน และอาจมีบางกองทุนที่กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนไว้เป็นรายวันก็มีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ชดเชยความเสี่ยงด้านสภาพคล่องก็มีความน่าสนใจ จึงมองเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าจะพิจารณาถือลงทุนไว้เพื่อกระจายความเสี่ยงในสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
โดยรวมแล้ว แม้ Sell in May จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในเดือน พ.ค. นี้ แต่หากนักลงทุน Stay invested โดยเลือกสินทรัพย์ที่ลดความกังวลเรื่องความผันผวน ก็จะช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทนจากการลงทุนโดยรวมได้ และช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนยังสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายการลงทุนที่วางไว้ได้ด้วยเช่นกัน
คำเตือน
· การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน