EA จันทร์ 13 พ.ค. เซ็นไฟนอลร่วมทุนรัฐบาลลาว ส่วนงบ Q1/67 กำไร 888 ล้านบาท ลด 61%
บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) คาด 13 พ.ค. นี้ เซ็นร่วมทุนรัฐบาลลาวสร้างพลังงานสะอาดรวมศูนย์ ทว่าเปิดกำไร Q1/67 ลด 61% จาก Q1/66 เหตุโรงไฟฟ้าแดดนครสวรรค์หมดช่วง adder อีกทั้งค่า Ft ต่ำลง และโรงไฟฟ้าลมชัยภูมิผลิตปริมาณน้อยลง แผนเพิ่มกำลังผลิตโรงงานแบตฯ สู่ 2 GWh คาดเสร็จ Q3/67
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า งบการเงินไตรมาสที่ 1 สิ้นสุด 31 มี.ค. 2567 มีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ 888.70 ล้านบาท (กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.24 บาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 2,319.76 ล้านบาท (กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.62 บาท) คิดเป็นการลดลง 61.68%
คำอธิบายและการวิเคราะห์จาก EA ระบุว่ากําไรสุทธิที่ลดลง โดยหลักสาเหตุจากผลการดําเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากการหมดระยะเวลาการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (adder) จํานวน 327 ล้านบาท
ลดลงจากผลกระทบจากการปรับลดค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) ของทางภาครัฐ และลดลงจากปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานลมโครงการหนุมานพื้นที่จังหวัดชัยภูมิจํานวน 671 ล้านบาท
ลดลงจากผลการดําเนินงานของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์เนื่องจากส่งมอบรถน้อยลง จํานวน 313 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ จะมุ่งเน้นการจําหน่ายรถบรรทุกหัวลากไฟฟ้าเป็นหลักในปี 2567 โดยมีการส่งมอบให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ อาทิเช่น กลุ่มบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จํากัด (มหาชน) กลุ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมสําหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2567 จํานวน 5,881.06 ล้านบาท ลดลงจํานวน 290.71 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 4.7 จาก ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ที่จํานวน 6,171.77 ล้านบาท และลดลงจํานวน 3,023.11 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 34.0 จาก ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ที่จํานวน 8,904.17 ล้านบาท
ทั้งนี้ EA มีรายได้จากธุรกิจกลุ่มต่างๆ จำแนกได้ดังนี้ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์, ธุรกิจไบโอดีเซล, ธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และธุรกิจอื่นๆ
สำหรับรายได้หลักคือ กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน ไตรมาส 1/2567 ทำได้ 2,560.12 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวก้นปีก่อน ร้อยละ 26.9 เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ได้หมดระยะเวลาการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (adder) ในวันที่ 23 ธ.ค. 2566 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมโครงการหนุมานพื้นที่จังหวัดชัยภูมิผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงจํานวน 44.48 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือลดลงร้อยละ 30.9 รวมถึงผลกระทบจากการปรับลดค่า FT ของทางภาครัฐในไตรมาส 1/2567 (Q1/2567 FT 0.2934 บาท/หน่วย, Q1/2566 FT 1.2597 บาท/หน่วย)
อย่างไรก็ตาม เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหากมองถึงกําลังการผลิตรวมในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจาก 168.46 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็น 173.06 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
เนื่องจากความเข้มของแสงที่เพิ่มขึ้นและจากการเปลี่ยนแผงโซล่าเซลล์ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จังหวัดลําปาง จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดพิษณุโลกเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น และโรงไฟฟ้าพลังงานลมโครงการหาดกังหันผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจาก 64.35 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็น 67.21 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้หลักรองลงมาคือรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ ไตรมาส 1/2567 ทำได้ 1,796.29 ล้านบาท ลดลงจํานวน 2,191.58 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 55.0 จาก ไตรมาส 1/2566 ที่จํานวน 3,987.87 ล้านบาท เนื่องจากมียอดส่งมอบรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ลดลงจํานวน 440 คัน
ด้านความคืบหน้าโครงการลงทุนที่สําคัญ
- ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน
บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด (Amita-TH) โรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแห่งแรกในอาเซียนที่มีกําลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปีของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด หรือ Amita-TH ปัจจุบัน Amita-TH ดําเนินการเชิงพาณิชย์ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนป้อนให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัทฯ และรวมถึงได้เริ่มมีการขายให้กับลูกค้าภายนอกด้วย
ในปัจจุบัน Amita-TH กําลังอยู่ในกระบวนการขยายกําลังการผลิตเพิ่มจาก 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3 ปี2567 และ 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีซึ่งคาดว่าจะเสร็จในช่วงปลายปี 2568
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ร่วมกับ EVE Energy Co., Ltd. ผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน อันดับ 3 ของประเทศจีน
ซึ่งการร่วมมือกันของทั้ง 2 บริษัทจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันตลาดในประเทศและต่างประเทศซึ่งจะช่วยให้ Amita-TH สามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนได้หลากหลายทั้งแบบ NMC และ LFP โดยปัจจุบัน Amita-THอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนําของโลกเพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพแบตเตอรี่ของบริษัทฯ ให้ดียิ่งขึ้น
- ธุรกิจผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์
กลุ่มบริษัทฯ ดําเนินธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จํากัด หรือ AAB ปัจจุบัน มีกําลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สูงสุดถึง 9,000 คันต่อปี
ทั้งยังสามารถรองรับการผลิตรถได้หลายประเภท เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก รถที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เป็นต้น โรงงานของ AAB ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยในไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทฯ มีการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจํานวน 350 คัน
ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก เช่น กระบะไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า เพื่อร่วมดําเนินการผลิตและจัดจําหน่าย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย
- ธุรกิจไบโอดีเซล
กลุ่มบริษัทฯ มุ่งมั่นลงทุนต่อยอดในธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF) โดยที่ผ่านได้มีการพัฒนากระบวนการผลิต Isomerization ทั้งนี้คาดว่าเริ่มทําการทดสอบ อุปกรณ์และกระบวนการผลิต (Pre-Commissioning) น้ำมันอากาศยานที่ยั่งยืน ได้ช่วงไตรมาสที่ 3/2567
นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้นําด้านธุรกิจจัดเก็บและบริหารจัดการน้ำมันในประเทศไทยในการร่วมกันศึกษาโอกาสในการสร้างสถานีบริการผสมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF Blending Facility) แบบ Open-Access เพื่อรองรับ SAF ที่ผลิตมาจากวัตถุดิบทางชีวภาพและวัตถุดิบอื่นๆ
- ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าสําหรับยานยนต์ไฟฟ้า
ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ ได้ดําเนินการติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีการให้บริการแล้ว จํานวน 499 สถานี (สถานี DC Charger และสถานี AC Charger) รวมทั้งหมด 2,555 หัวชาร์จ ทั้งนี้ ในปี 2567 กลุ่มบริษัทฯ จะยังมุ่งเน้นการเติบโต ซึ่งออกเป็น 2 ส่วน
1) การขายสถานีชาร์จขนาดใหญ่ (Megawatt Charging Station) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ และ2) การขยายตลาดสู่คอนโดมีเนียม อาคารจอดรถ และอาคารสํานักงานต่าง ๆ โดยใช้ Smart Energy Management System เพื่อให้การจัดการพลังงานของอาคารมีประสิทธิภาพสูงที่สุด
- ธุรกิจกําจัดขยะและโรงไฟฟ้าขยะ
กลุ่มบริษัทฯซึ่งเล็งเห็นโอกาสในธุรกิจ จึงได้มีการเข้าไปดําเนินโครงการกําจัดขยะมูลฝอยชุมชนบนพื้นที่เกาะล้านที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งปัจจุบันเริ่มดําเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะสามารถดําเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567
โครงการกําจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผา รวมถึงการผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะกับเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตคาดว่าจะสามารถดําเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 และโครงการกําจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผา รวมถึงการผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยบริษัทเป็นผู้ชนะการเสนอราคาและลงนามในสัญญากับเทศบาลเมืองปทุมธานี ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้
- ธุรกิจการลงทุนในต่างประเทศ
บริษัทฯ อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการลงนามกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในสัญญาร่วมลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของประเทศลาว และลงทุนในโครงการที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มเติมรวมทั้งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศลาว
คาดว่าจะลงนามในวันที่ 13 พ.ค. 2567 ภายหลังจากการลงนามในสัญญาดังกล่าว บริษัทฯ และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจะดําเนินการร่วมกันในการก่อตั้งบริษัทร่วมทุน และการรับสิทธิต่างๆ จากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อไป