CPN กำไร Q1/67 โต 28% คงเป้ารายได้โต 5 ปี (67-71) เฉลี่ย 10% ลงทุน 1.21 แสนล้านบาท
บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) มีรายได้ Q1/67 ที่ 12,234 ล้านบาท โต 19% จาก Q1/66 หลังรายได้โตทุกกลุ่มธุรกิจ ทว่าลดจาก Q4/66 ตามปัจจัยฤดูกาล มีกำไร 4,154 ล้านบาท โต 28% ผลดีค่าไฟฟ้าน้อยลง ยังตั้งเป้า 5 ปี (67-71) รายได้โตเฉลี่ย 10% และลงทุน 5 ปี งบ 121,000 ล้านบาท เน้น ห้าง - โรงแรม - Mixed use
KEY
POINTS
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์
บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลการดำเนินงานงบการเงินรวมไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.67 มีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ 4,154.16 ล้านบาท (กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.93 บาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.66 ซึ่งทำได้ 3,245.88 ล้านบาท (กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.73 บาท) คิดเป็นการเพิ่ม 27.98%
คําอธิบาย และการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ CPN ระบุในสาระสำคัญว่า ไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัท และบริษัทย่อยมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญในทุกๆ กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่พักอาศัยที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากไตรมาส 1 ปี 2566
บริษัท มีรายได้ค่าเช่า และบริการเติบโตร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า จาก 1) พื้นที่เช่าที่เพิ่มขึ้นจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์วิลล์ และเซ็นทรัล นครสวรรค์ 2) ยอดขายร้านค้าของผู้เช่าที่สูงขึ้น และ 3) การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลาง แม้ว่าค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยสัญญาเช่าจะเพิ่มขึ้นจากการต่อสัญญาที่ดินโครงการเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า แต่อัตราค่าไฟลดลงจากปีก่อนหน้า (จากหน่วยละ 5.33 บาท เหลือ 4.18 บาท)
ส่งผลให้บริษัท รายงานรายได้รวมไตรมาส 1 ที่ 12,234 ล้านบาท และกำไรที่ 4,154 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 19 และร้อยละ 28 จากปีก่อนหน้า ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมลดลงร้อยละ 7 ขณะที่กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เนื่องจากในไตรมาส 4 จะมียอดขายร้านค้า และต้นทุนการดำเนินการ และการตลาดสูงกว่าไตรมาสอื่นจากกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาล
หากไม่นับรวมผลกระทบทางบัญชี ในรายได้จากการลงทุน 348 ล้านบาท (หลังหักภาษี) และค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยสัญญาเช่าจากการต่อสัญญาที่ดินของเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ที่ 315 ล้านบาท (หลังหักภาษี) บริษัท มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ที่ 4,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปีก่อนหน้า
โดยกําไรสุทธิมีดีขึ้นสอดคล้องกับกําไรจากการดําเนินการที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับกำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากธุรกิจศูนย์การค้าที่มีค่าไฟฟ้าลดลง และธุรกิจที่พักอาศัยที่มีการโอนคอนโดมิเนียมในชั้นที่สูงขึ้น ทั้งนี้ CPN มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ร้อยละ 56 (ไม่รวมรายการผลกระทบจากการต่อสัญญาโครงการปิ่นเกล้า)
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2567 กองทรัสต์ CPNREIT ประสบความสำเร็จในเพิ่มทุน และต่อสัญญาโครงการเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ตามแผนเรียบร้อยแล้ว โดย CPNREIT ได้ออก และเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มทุนทั้งหมด 1,053 ล้านหน่วย ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย 10.20 บาท ให้กับผู้ถือหน่วยทรัสต์เดิม และประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 23-29 เม.ย.2567 ได้รับการตอบรับ และประสบความสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ และได้รับเงินเพิ่มทุนทั้งสิ้น 10,741 ล้านบาท รวมกับเงินกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินอีกบางส่วน นำไปลงทุนต่อสัญญาสิทธิการเช่าโครงการเซ็นทรัล ปั่นเกล้า อีก 15 ปี มูลค่าทั้งสิ้น 12,161 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัท ในฐานะ Sponsor ได้ให้การสนับสนุนการเพิ่มทุนดังกล่าว ทำให้บริษัท ถือสัดส่วนใน CPNREIT เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 39% จากเดิมที่ 30% ทั้งนี้ CPNREIT ได้ลงนามต่อสัญญาโครงการเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ต่อไปอีก 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 - วันที่ 31 ธ.ค. 2583 เรียบร้อยแล้วในวันเดียวกัน
โครงการภายใต้การบริหารของ CPN ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567
บริษัท มีศูนย์การค้าภายใต้การบริหารงาน 42 โครงการ (อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 17 โครงการ ต่างจังหวัด 23 โครงการ ต่างประเทศ 1 โครงการ โครงการภายใต้กิจการร่วมค้า 1 โครงการ) ศูนย์การค้าขนาดเล็กหรือคอมมูนิตี้มอลล์ 17 โครงการ มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวม 2.3 ล้านตารางเมตร
อัตราการเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 92 ในไตรมาสก่อนหน้า มาเป็นร้อยละ 93 ในไตรมาส 1 ปี 2567 จากการปรับตัวดีขึ้นในศูนย์เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ และศูนย์การค้าต่างจังหวัดบางแห่ง
ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า บริษัท มีให้บริการทั้งหมด 10 อาคาร คิดเป็นพื้นที่ 314,569 ตารางเมตร และมีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยร้อยละ 86 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 88 จากการลดพื้นที่เช่าของผู้เช่าในอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิศเศส ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการเจรจาหาผู้เช่ารายใหม่
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัท มีโรงแรมทั้งหมด 9 แห่ง รวม 1,481 ห้อง และมีอัตราการเข้าพักที่ร้อยละ 67 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 68 โดยลดลงตามฤดูกาลท่องเที่ยวจากแบรนด์ โก! โฮเทล และโรงแรมเซ็นทารา อุบล ส่วนโรงแรมอื่นๆ มีอัตราการเข้าพักที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
บริษัท มีโครงการที่พักอาศัยเพื่อขายทั้งสิ้นรวม 36 โครงการ โดยเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ 2 โครงการ คือ เอสเซ็นท์ นครสวรรค์ เอสเซ็นท์ นครปฐม และโครงการบ้าน 1 โครงการ คือ บ้านนิรดา วงแหวน-เอกชัย ทำให้ปัจจุบันบริษัท มีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด 27 โครงการ ประกอบด้วยโครงการแนวสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปแบบคอนโดมิเนียมอยู่ติดศูนย์การค้า 14 โครงการ และโครงการแนวราบรวม 13 โครงการ
แผนธุรกิจในอนาคต
บริษัท ยังคงผลักดันแผนการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยตั้งเป้าหมายทางธุรกิจในระยะ 5 ปี ที่จะมีรายได้เติบโตเฉลี่ย (CAGR) ประมาณร้อยละ 10 ในระหว่างปี 2567 - 2571 เป้าการเติบโตยังคงสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัท เคยตั้งไว้ในปีที่แล้ว และปีก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 (ซึ่งไม่รวมผลประกอบการปี 2565 ที่มีฐานต่ำ)
บริษัท วางแผนจะเพิ่มพื้นที่ค้าปลีกเฉลี่ยปีละ 100,000 ตารางเมตร ในปี 2567-2571 พร้อมด้วยแผนเปิดตัวโครงการที่พักอาศัยในอีก 5 ปี โดยโครงการที่ได้ประกาศไปแล้วที่จะเปิดให้บริการในระหว่างปี 2567- 2571 ประกอบด้วย
1) เซ็นทรัล กระบี่ ด้วยงบลงทุนกว่า 2,300 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ขายประมาณ 22,000 ตารางเมตร เปิดบริการในปี 2568
2) โรงแรมในจังหวัดระยอง เปิดบริการในปี 2567
3) โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) โดยจะมีส่วนพื้นที่ GBA ศูนย์การค้า 80,000 ตารางเมตร พื้นที่ GBA อาคารสำนักงาน 90,000 ตารางเมตร โรงแรม 257 ห้อง และอาคารที่อยู่อาศัย 406 ยูนิต ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 46,000 ล้านบาท สำหรับทั้งโครงการ โดยจะทยอยเปิดให้บริการปี 2567 เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้นบริษัท วางแผนที่จะพัฒนาโครงการ mixed-use ขนาดใหญ่ 5 โครงการ ซึ่งรวมถึงโครงการดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค ใน 5 - 10 ปีข้างหน้า โดยบริษัท ตั้งงบลงทุน 121,000 ล้านบาท สำหรับแผนพัฒนาโครงการ 5 ปี ข้างหน้า โดยหลักๆ งบลงทุนดังกล่าวจะมาจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน