หุ้น NEX หัวปักกระแทกฟลอร์ 29.23% 3 เดือนแรกส่งมอบรถ EV ได้แค่ 591 คัน
หุ้น NEX หัวปักกระแทกฟลอร์ 29.23% 3 เดือนแรกส่งมอบรถ EV ได้แค่ 591 คัน "นักวิเคราะห์" เผยการแข่งขันสูงจีนตีตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหนัก NEX รับความท้าทายหลังตั้งเป้าทั้งปี 5,000 คัน
ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยภาคเช้า ณ วันที่ 15 พ.ค.2567 หุ้น NEX หรือ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ปรับตัวลงแรงกว่า 29.23% หรือราคาลดลง 1.71 บาท หรือระดับราคาอยู่ที่ 4.14 บาท
กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า NEX สามารถส่งมอบรถได้ 591 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/66 ที่ 563 คัน และตั้งเป้าปีนี้คาดว่าจะส่งมอบรถไฟฟ้าได้ 5,000 คัน แต่ในไตรมาสแรกทำได้แค่ 591 คัน อาจจะมีความท้าทาย เนืื่องจากการแข่งขันรถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างแรง หลังจากที่มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนข้ามาตีตลาดค่อนข้างมาก จึีงเป็นเซนติเมนเชิงลบกับหุ้นรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ปัจจุบันแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีการเข้าไปตีตลาดในหลาย ๆ ประเทศ ล่าสุด สหรัฐฯ ก็โดนรับผลกระทบเช่นกัน จึงออกมาแบนรถไฟฟ้าของจีน
อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 1/67 หุ้น NEX ผลการดำเนินงานบริษัทฯ มีรายได้รวม 2,509 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 57.97 ล้านบาท บริษัทฯ มีการส่งมอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ไปกว่า 591 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 563 คัน แบ่งเป็น รถเมล์ไฟฟ้า ขนาด 11 เมตร จำนวน 94 คัน รถหัวลากไฟฟ้าจำนวน 171 คัน รถเมล์ ขนาด 8 เมตร จำนวน 230 และรถรุ่นอื่นๆ กว่า 96 คัน
โดยแนวโน้มธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี บริษัทฯยังเดินหน้าในการผลักดันยอดขายปีนี้คาดว่าจะส่งมอบรถไฟฟ้าให้ลูกค้าได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 คัน บริษัทฯยังมีโอกาสรับงานภาครัฐอีกด้วย
ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน มาตรการดังกล่าวจะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ไม่จำกัดจำนวนคันและราคา ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการผลักดันยอดขายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่การผลักดันยอดขายในประเทศ ยังมีการขยายไปยังตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ อย่างใน สปป.ลาว ที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนกระบวนการจัดการด้านโลจิสติกส์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ รวมไปถึง อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งมองว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างแบรนด์รถ EV ของไทยให้ สามารถเติบโตได้ในตลาดต่างประเทศ และมั่นใจในศักยภาพความพร้อมเดินหน้าให้บริการอย่างเต็มกำลัง โดยปัจจุบันโรงประกอบยานยนต์ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 9,000 คันต่อปี ซึ่งจะพิจารณาการขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้รถยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ การลดต้นทุนพลังงานและการใช้งานที่มีประสิทธิภาพเป็นจุดประสงค์หลักของธุรกิจและองค์กรในปัจจุบัน การส่งมอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้บริษัทลดต้นทุนในการดำเนินงานได้และเป็นการสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว ที่ผ่านมามีบริษัทมาใช้บริการ รถไฟฟ้าอีวีต่อเนื่อง
เช่น บริษัทในกลุ่ม PTTGC ,ทิปโก้แอสฟัลท์, บริษัท โลจิสติกส์ เอเชีย จำกัด ใช้ส่งสินค้าเครื่องดื่มและสินค้ากลุ่ม FMCG ให้ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ,บริษัท นิปปอน เอ็กซ์เพรส โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น และยังมีการเจรจากับลูกค้าอีกหลายราย ที่สนใจใช้รถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์