5 ตลาดหุ้นภูมิภาค ต่างชาติไหลออกหนักสุด ‘หุ้นไทย’ มากสุดติดลบ 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
5 ตลาดหุ้นภูมิภาค ต่างชาติไหลออกหนักสุด ‘หุ้นไทย’ มากสุดติดลบ 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เวียดนามติดลบที่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ "นักวิเคราะห์" เผยหุ้นไทยกำไรกลุ่มพลังงานฉุด หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น เป็นข้อจำกัดและเป็นการถ่วงตัวเลขกำไร
ตลาดหุ้นภูมิภาคในช่วงปีที่ผ่านมาต่างได้รับผลกระทบ fund flow ไหลออกค่อนข้างมาก หลังจากที่ในช่วงนั้นสหรัฐฯ มีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโบบาย ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นภูมิภาค จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต่างชาติไหลกับเข้าไปที่สหรัฐแทน
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ ผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจจากสถานการณ์ปัจจุบัน ระบุว่า 5 ประเทศตลาดหุ้นในแถบภูมิภาคช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา มี fund flow ต่างชาติไหลออก หนักสุดคือ ตลาดหุ้นไทยติดลบมากสุด 5,507 ล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนามติดลบที่ 1,026 ล้านเหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์ติดลบที่ 863 ล้านเหรียญสหรัฐ มาเลซียติดลบที่ 514 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินโดนีเซียติดลบที่ 353 ล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างอิงข้อมูล Bloomberg)
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า fund flow เริ่มไหลออกตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ถึงต้นปี 2567 หลัก ๆ มาจากทิศทางของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับกลุ่มพลังงาน โดย 30% ของบริษัทจดทะเบียนมาจากเซกเตอร์พลังงานและคอมมูนิตี้อื่น ๆ และอีก 15% มาจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หากเป็นเช่น จะเห็นภาพได้ว่า เมื่อเวลาน้ำมันดิบมีการปรับตัวขึ้นไปสูง โอกาสที่ผลประกอบการจะดีมาก ๆ หากเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นมาก ๆ ก็จะค่อนข้างยาก จึงเป็นข้อจำกัดและเป็นการถ่วงตัวเลขกำไร
ขณะที่กลุ่มธนาคารแม้ว่าจะทำได้ดี พอเริ่มเข้าสู่จุดที่เป็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น มักจะเป็นจุดที่ทำให้กลุ่มธนาคารเริ่มมีการชะลอตัว ดังนั้น ใน 45% ของกำไรบริษัทจดทะเบียนในหุ้นไทย ต่อให้แนวโน้มที่ดีก็จะชะลอตัวลง
นอกจากนี้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโบายของไทยกับสหรัฐ ซึ่งค่อนข้างกว้างสหรัฐอยู่ที่ 5.5% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 2.5% ส่วนต่างที่ 3% ถือว่ากว้างมาก หากเทียบกับในอดีต 24 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มี กนง. นี้ถือว่า เป็นครั้งที่ 2 ที่อัตราดอกเบี้ยเคยกว้างขนาดนี้ ซึ่งครั้งแรกนั้นเคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2000 หรือ พ.ศ. 2543 รอบนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นจะเห็นว่า เมื่อสหรัฐฯ มีการตรึงดอกเบี้ยส่วนต่างที่ยังคงค้างอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ จะเห็นว่า หุ้นไทยไม่ค่อย perform ในรอบนั้นหุ้นไทยลงไปประมาณ 17 -18% เงินบาทอ่อนค่าจาก 37 บาท ไปที่ 45 บาท ได้ ซึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่มีความโน้มเอียงถ่างออกมาก ๆ เช่นนี้ ทิศทางของเงินทุนจึงไม่ค่อยอยากไหลเข้า แต่จะเป็นการไหลออกมากกว่า
ส่วนที่ทำให้ fund flow ภูมิภาคไหลค่อนข้างมากอย่างฮ่องกงปีที่ผ่านมาดูแย่เท่ากับตลาดหุ้นไทย กลายเป็นว่าปีนี้ฮ่องกงมีการฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี และเวียดนาม โดยนักลงทุนมองว่า จากการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดจะมีธุรกิจฟื้นตัวเป็น K Shape ซึ่งบางธุรกิจอาจจะไปได้ และบางธุรกิจอาจจะกลับมาไม่ได้ดีเท่าเดิม
ซึ่งธุรกิจของไทยเองเป็นการจดทะเบียนของธุรกิจแบบดั้งเดิม เกี่ยวข้องกับทรัพยากร เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม หรือเกี่ยวกับธุรกิจฐานการผลิตฐานแบบดั้งเดิมที่ไม่มีความแปลกใหม่ เหล่านี้ถือว่าไม่ค่อยดี เพราะเห็นได้ว่า GDP ไทยยังไม่ในช่วง Pre Covid-19 เลย ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคถ้ามีฐานการผลิตที่อิงกับอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่าง เวียดนาม จะสามารถโตแซง Pre Covid-19 ไปได้แล้ว หากบริษัทใดที่มีธุรกิจสมัยใหม่ก็จะมีทิศทางที่ดีกว่า
อย่างไรก็ดี มองในภาพรวมแล้วไม่ได้ดูแย่ ถึงแม้จะเห็นต่างชาติขายสิทธิ แต่ถ้าไปดูองค์ประกอบการถือหุ้นของต่างชาติกลับมีการถือหุ้นเพิ่มในหลายอุตสาหกรรม กลุ่มที่มีการถือเพิ่มเช่น กลุ่มการแพทย์ สื่อสาร ค้าปลีก รับเหมาก่อสร้าง และการท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่ต่างชาติเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเข้ามา ในขณะที่จะเห็นต่างชาติไปลดในหุ้นใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน ธนาคาร เป็นต้น
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงปีที่่ผ่านมาต้องยอมรับบริษัทจดทะเบียนกำไรไม่โตหรือลดลงไป ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย ขณะที่เศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 2% รวมถึงปัญหาทางการเมืองมีการจัดตั้งรัฐบาลช้า และก่อนที่ยังไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลมีความไม่แน่นอนภาครัฐ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล จึงส่งผลให้งบประมาณเกิดการล่าช้าด้วย
ทั้งนี้จากปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า fund flow ต่างชาติหลาย ๆ ภูมิภาคในแถบเอเชียไหลออกค่อนข้างมาก จากการที่สหรัฐมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมา ทำให้มีเม็ดเงินกลับไปลงทุนในสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าไทย