หุ้น EA-NEX อ่วม 'ข่าวลบ - แรงขาย - หั่นราคาหุ้น'
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีรายย่อยที่ไม่ติดตามหุ้นมหาชนอย่าง “บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA” และ “บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX “ จากราคาหุ้นที่ลดลง(อย่างหนัก)แม้จะออกมาให้ข้อมูล – แถลงข่าว แต่กระแสข่าวลบยังไม่คลี่คลายไปได้
ราคาหุ้น EA ทำจุดต่ำสุดใหม่รายปี จากราคาหุ้นสิ้นปี 2565 ที่ 97 บาท ซึ่งระหว่างปีสามารถขึ้นไปแตะทะลุ 100 บาท และเป็นราคานิวไฮ ก่อนจะถูกแรงเทขายหุ้นลงมา และปรับฐานต่อเนื่องปี 2566 ราคาปิดที่ 44.25 บาท และ 23.70 บาท (23 พ.ค.67) เป็นการปรับตัว ลดลง 46.44 % นับตั้งแต่ต้นปี
ปี 2567 ปัจจัยสำคัญที่กดดันคือ ตัวเลข “งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2567” ที่ออกมาแบบน่าผิดหวัง และผิดคาด จากรายได้หาย - กำไรลดวูบด้วยผลกระทบธุรกิจหลักคือ โรงไฟฟ้าที่สัมปทานหมด Adder รายได้ทยอยลดลงจนทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 888 ล้านบาท ลดลง 161 % จากปีก่อนที่มีกำไร 2,600 ล้านบาท
กรณีโรงไฟฟ้าที่เคยได้รับ adder ทยอยหมดไม่ใช่ปีแรกแต่เป็นช่วงที่รับผลกระทบหนักสุด จากมูลค่าที่จะเกิดขึ้นกระทบปีละ 1,400 ล้านบาท จากจำนวนกำลังไฟฟ้าที่ COD 90 เมกะวัตต์ ซึ่ง EA มีทั้งหมด 270 เมกะวัตต์ ทำให้จะทยอยรับรู้ในช่วงนี้ต่อไปอีก
ประเด็นถัดมาคือ ผลกระทบจากบริษัทลูก NEX ที่มีโมเดลธุรกิจเชื่อมโยงกันจากธุรกิจ EV ด้วยการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า ขณะที่ NEX เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าเน้นเชิงพาณิชย์ ก่อนหน้านี้เป็นแท็กซี่ รถเมล์ไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า ก่อนจะเบนเข็นมายังรถหัวลากไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
บริษัทตั้งเป้าหมาย 2 ปี 2566 - 2568 มีเป้าหมายการผลิตรถ EV ประเภทรถยนต์นั่ง และรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568
ปรากฏเจอโรคเลื่อนพายอดขายสะดุดมาตลอด รถแท็กซี่ไฟฟ้าดีลจองล่มให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสุวรรณภูมิพัฒนาที่จองสิทธิซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และอะไหล่ จำนวน 3,500 คัน ถัดมาดีลรถเมล์ที่ต้องเลื่อนระยะเวลาส่งมอบหลังเผชิญนโยบายทางการยังไม่ชัดเจนแต่ก็สามารถดันการส่งมอบได้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ธุรกิจย่อมเปลี่ยนแปลงตลอดจากตลาด EV ที่มีกระแสแรง และมียอดสั่งจองล้นหลาม เผชิญปัจจัยกดดันระดับโลกจากยอดซัพพลายที่ล้น การกีดกันทางการค้าสหรัฐ และจีน การแข่งขันที่รุนแรงในไทยทำให้มีการหั่นราคาขายลงต่อเนื่อง รวมไปถึงนโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐที่ชะลอตัว
ดังนั้น ยอดส่งมอบรถไฟฟ้าของ NEX จึงล่าช้าตามไปด้วยอยู่ที่ ประมาณ 350 คันในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 จากเป้าหมายทั้งปีของบริษัที่ 5,556 คัน และในมือมียอดขายรอส่งมอบรองรับเกือบ 3,000 คัน แบ่งเป็นรถ แทรกเตอร์ 1,125 คัน, รถปิกอัพ 727 คัน และรถบัส 1,000 คัน
ด้วยค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นจึงกดดันอัตรากำไร และยิ่งหากส่งมอบรถไม่ได้ตามกำหนดทำให้ไม่สามารถรับรู้รายได้ในส่วนนี้ไปอีก จึงทำให้ราคาหุ้น NEX เกิดแรงเทขายจากราคาปิดปี 2566 ที่ 10.00 บาท และมาหลุด 4.00 บาทที่ 3.18 บาท หรือลดลง 68.20 %
ท่ามกลางการปรับประมาณการกำไร NEX กันถ้วนหน้า บริษัทหลักทรัพย์(บล.) บัวหลวง คาดการณ์ปี 2567 การส่งมอบรถ EV อยู่ที่ 3,000 คัน (ต่ำกว่าเป้าหมายของ NEX ที่ 5,556 คันอยู่มาก) การคาดการณ์ที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มาจากส่วนแบ่งกำไรจาก AAB น้อยลง ทำให้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2567 ลงอีกครั้ง 19 % มาอยู่ที่ 574 ล้านบาท (ลดลง 21 % YoY) เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งมอบรถ EV และแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่อ่อนแอ
รวมทั้งปรับลด PER ลงเหลือ 16 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวอยู่ 1.5SD ซึ่งโดยปกติ NEX จะซื้อขายอยู่ระหว่างค่าเฉลี่ย และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเพียง 1SD) ดังนั้นราคาจึงปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 4.40 บาท และปรับคำแนะนำเป็น ‘ถือ’
ที่ผ่านมาหุ้น EA และต้องรวมหุ้น NEX เข้าไปด้วยไม่ได้แค่เผชิญข่าวลบจากผลประกอบการเท่านั้นแต่ยังเต็มไปด้วย ข่าวลือที่มีผลต่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ทั้ง ปัญหาความขัดแย้งของผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้น ปัญหาหุ้นถูกนำไปขายชอร์ตจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีการแถลงข่าวเพื่อคลี่คลายปัญหาหุ้นดิ่งรอบใหญ่ทุกครั้งไปด้วย
และไม่ใช่ใครที่ไหนแต่ต้องเป็น “สมโภชน์ อาหุนัย” ยืนยันว่าไม่ได้ขายหุ้น EA หุ้นออกมาเลย ซึ่งหุ้นที่มีอยู่นั้นอยู่ในรูปแบบทรัสต์ (Trust) และโฮลดิ้ง และการตั้ง Super Holding Company ที่สปป.ลาว จะได้รับโอนโครงการเขื่อนหลังใช้เวลาเตรียมตัวรองรับสถานการณ์มาแล้ว 7 - 8 ปี ตอนนี้ถือเป็นช่วงรอยต่อของธุรกิจ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์