ดาวโจนส์ดิ่ง 411 จุด บอนด์ยีลด์พุ่งทุบตลาด
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(29พ.ค.)ปรับตัวร่วงลง 411 จุด โดยถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 411.32 จุด หรือ 1.06% ปิดที่ 38,441.54 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 39.09 จุด หรือ 0.74% ปิดที่ 5,266.95 จุด ดัชนีแนสแด็ก ลดลง 99.30 จุด หรือ 0.58% ปิดที่ 16,920.58 จุด
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ(บอนด์ยีลด์)อายุ 10 ปีดีดตัวเหนือระดับ 4.5% หลังการประมูลพันธบัตรอายุ 5 ปีเผชิญกับอุปสงค์ที่อ่อนแอ
กระทรวงการคลังสหรัฐทำการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปี วงเงิน 7 หมื่นล้านดอลลาร์วานนี้ แต่ได้รับการตอบรับที่ซบเซาในตลาด โดย Bid-to-Cover ratio ลดลงสู่ระดับ 2.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 2.45 เท่า
ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณต้องการเห็นเงินเฟ้อชะลอตัวต่อไปอีกหลายเดือน ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนก.ย.
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประสานเสียงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 6 มิ.ย.
หาก ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 6 มิ.ย. ก็จะทำให้ ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าเฟด
ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 31 พ.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)