3 หุ้นนิคมฯ รับแรงหนุนรถยนต์อีวี 'ไต้หวัน' จ่อลงทุน 'ไทย' ฮับ PCB อันดับ 3 ของโลก

3 หุ้นนิคมฯ รับแรงหนุนรถยนต์อีวี  'ไต้หวัน' จ่อลงทุน 'ไทย' ฮับ PCB อันดับ 3 ของโลก

3 หุ้นนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ WHA ROJNA และ AMATA รับแรงหนุนกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 'ไต้หวัน' จ่อลงทุน 'ไทย' ฮับ PCB อันดับ 3 ของโลก

นักลงทุนไต้หวัน จาก Taiwan Electrical and Electronic Manufacturers' Association (TEEMA) โดย บริษัท Kinpo Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในกิจการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น PCB, PCBA และ HHD เพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุนเพิ่มเติม ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า
 

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และบริการการลงทุน บล.กรุงศรี  เปิดเผยว่า การเดินทางมาของคณะนักลงทุนไต้หวันครั้งนี้ เพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุนเพิ่มเติม ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีผู้ร่วมคณะมากกว่า 30 คนจาก 17 บริษัท

โดยมองเป็นโอกาสของ IE developers ในการขายที่ดิน หรือปล่อยเช่าโรงงาน คลังสินค้า ยังคงคำแนะนำ ซื้อ WHA ราคาเป้าหมาย 6 บาท, ROJNA 9.2 บาท และ AMATA ที่ 29 บาท
 

สำนักข่าวนิกเกอิ รายงานว่า อุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ในประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับ "ความมั่นคงด้านพลังงาน" โดยสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (TPCA) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิต PCB และซัพพลายเออร์วัสดุและอุปกรณ์ มากกว่า 700 รายในไต้หวันคาดการณ์ว่าสวนอุตสาหกรรมของไทยอาจเผชิญกับ การขาดแคลนพลังงาน ในต้นปีหน้า  สาเหตุหลักมาจากโรงงาน PCB แห่งใหม่จำนวนมากที่ทยอยเปิดดำเนินการผลิตเร็วๆนี้

PCB (Printed Circuit Board) หรือ "แผ่นวงจรพิมพ์" ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับชิปและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ บนแผ่นวัสดุฉนวน มีบทบาทสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ช่วยให้ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กและซับซ้อนลงบนแผ่นเดียว ประหยัดพื้นที่และลดต้นทุนการผลิต

จากข้อมูลของสมาคม TPCA ระหว่างเดือนมกราคม 2566 ถึงเมษายน 2567 พบว่ามีการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยเพิ่มขึ่นเกือบ 30 โครงการ ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้  ส่งผลต่อความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น

มอริซ ลี ประธานสมาคม TPCA และที่ปรึกษาอาวุโสของ Unimicron Technology ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายชิปซับสเตรทและแผ่นปริ้นท์ชั้นนำ กล่าวว่าโรงงานใหม่ 7 แห่งจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดดำเนินการภายในปลายปี 2568 แต่ทว่าโรงงานต่างๆกำลังเจอปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ แรงงานที่มีทักษะเพียงพอและระบบจัดการขยะของไทยด้วย

โดยประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม PCB ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เราจำเป็นต้องยกระดับความสามารถในการตอบสนองอย่างคล่องตัว และเราต้องการการสนับสนุนจากภายในประเทศเพื่อช่วยเราสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพที่ยอดเยี่ยมในการรองรับอุตสาหกรรมแผ่นปริ้นท์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ต่ำและแรงงานที่มีศักยภาพในราคาที่แข่งขันได้

นอกจากนี้ ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ สำหรับการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากมีเครือข่ายการผลิตแผ่นปริ้นท์ที่มีขนาดเล็กอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามการค้าสหรัฐและจีน เพราะมีห่วงโซ่อุปทานด้านยานยนต์ที่แข็งแกร่งมายาวนาน ด้วยเหตุนี้ทำให้สมาคมจึงประมาณการว่าภายในปี 2568 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการผลิตแผ่นปริ้นท์ของโลกอยู่ที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ในปี 2565