’25 โบรก‘ ขาดทุนปี 66 รวมกว่า 4.2 พันล้าน ก.ล.ต. ย้ำทุกรายเงินกองทุนยังแข็ง
25 บริษัทหลักทรัพย์รายงานงบปี 66 ขาดทุนรวมกันกว่า 4.2 พันล้าน ส่วนอีก 19 บริษัทหลักทรัพย์กำไรรวม 6.5 พันล้าน ด้าน ก.ล.ต. ชี้ปัจจุบันทุกแห่งสามารถดำรงเงินกองทุนได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ และ 98% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำกว่า 2 เท่า ส่วนการปล่อยมาร์จินมีการดำเนินการควบคุมโดยรัดกุม
ผู้สื่อข่าวรวบรวมผลการดำเนินงาน 44 กิจการจากรายชื่อที่ได้รับใบอนุญาตการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ประเภทบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า 25 แห่งขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมราว 4,230 ล้านบาท
สำหรับกิจการที่ขาดทุน รายชื่อและตัวเลขเป็นดังนี้
สำหรับกิจการที่กำไร รายชื่อและตัวเลขเป็นดังนี้
ด้านนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บล. ทุกแห่งสามารถดำรงเงินกองทุนได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยส่วนใหญ่ (ประมาณ 98% ของ บล.) สามารถดำรงเงินกองทุนได้มากกว่า 2 เท่าของเกณฑ์ขั้นต่ำ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องสุทธิเพียงพอชำระหนี้สินทั้งหมดที่มีต่อลูกค้า (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ค.2567)
โดย ก.ล.ต. ได้มีการกำกับดูแล โดยติดตามสถานะการดำรงเงินกองทุนของ บล. เป็นรายวัน และกำกับดูแลระบบงานของ บล. ในหลายด้าน โดยในส่วนของการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (margin loan) บล. ต้องมีการบริหารความเสี่ยง ตั้งแต่การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ให้มาร์จิ้นได้ (marginable securities) กำหนดอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น (initial margin) ที่เหมาะสม
มีการติดตามระดับมาร์จิ้น (maintenance margin) หากต่ำลงถึงระดับที่กำหนด ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม (call margin) หากต่ำลงไปอีก บล. สามารถบังคับขายหลักประกันได้ (force sell) ทั้งนี้ อัตรามาร์จิ้นที่ บล. กำหนด ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังติดตามการกระจุกตัวของหุ้นที่ปล่อยมาร์จิ้น สัดส่วนการปล่อยมาร์จิ้นเทียบกับเงินกองทุนของบริษัท เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงของ บล. ตลอดจนผลกระทบต่อสภาพตลาด และระบบการซื้อขายโดยรวมด้วย
ในกรณีที่ลูกค้ามีอัตรามาร์จิ้นต่ำจนใกล้ หรือถึงระดับที่ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม บล. มักมีการเจรจากับลูกค้าเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันก่อนที่จะถึงระดับบังคับขายด้วย
ณ วันที่ 27 พ.ค.2567 บล. มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เฉลี่ยต่อรายที่ 1,520 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) เฉลี่ยต่อรายที่ 282% (เกณฑ์ดำรง NCR ขั้นต่ำ 7%) และในขณะที่ margin loan ในปัจจุบัน มีหลักประกันที่ครอบคลุมมูลหนี้สูงถึง 3 เท่า
ทั้งนี้ เกณฑ์ขั้นต่ำ กำหนดให้ บล. ดำรง NC > 25 ล้านบาท กรณีประกอบทั้งธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ > 15 ล้านบาท กรณีประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง และกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ดำรง NCR > 7% ของหนี้สินทั่วไปและทรัพย์สินที่ลูกค้าวางไว้เป็นประกันเพื่อซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า