จับตา 3 ปมร้อนระอุ ชี้ชะตาการเมือง ลุ้นถอดนายกฯ หวั่นงบปี 68 ล่าช้า กระทบจีดีพี ทุบหุ้นไทย
จับตา 3 ปมร้อนระอุ ชี้ชะตาการเมือง "นักวิเคราะห์" ให้น้ำหนักลุ้นการพิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน หากพ้นตำแหน่ง หวั่นงบประมาณปี 2568 ล่าช้า กระทบจีดีพี ทุบตลาดหุ้นไทย
ดัชนีตลาดหุ้นไทย ยังคงแกว่งตัวผันผวน โดยในเดือนมิ.ย.2567 มี 3 เหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองให้ต้องจับตา ได้แก่ 1. การพิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน โดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 2.กรณีทักษิณ ชินวัตร ผิดมาตรา 112 และมีการนัดส่งฟ้องศาลในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ หลังจากที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง และ 3.การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ประเด็นการเมืองยังคงเป็นที่จับตาอยู่ ณ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน การพิจารณาคุณสมบัติ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือการยุบพรรคก้าวไกล มองว่าเป็นการกดดันเชิงเซนติเมน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่ทำให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยหดหายไป มาจากจีดีพีไตรมาส 1/67 ออกมาต่ำกว่าคาด ฟื้นตัวได้ไม่มากนัก รวมถึงเลขทางการเงินของซัพพลายทั้งระบบขาดเม็ดเงินใหม่เข้ามาสนับสนุน เนื่องจากภาครัฐมีการอัดฉีดยังไม่เต็มที่มากนัก และเม็ดเงินต่างประเทศยังไม่เข้ามา ขณะที่เม็ดเงินในประเทศกลับไหลออกไปลงทุนกองทุนเทอมฟันด์ ในรูปแบบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 5% ยังคงไหลออกอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้สภาพตลาดทุนเป็นลักษณะชะลอตัว
“นโยบายต่าง ๆ ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง จะมีดีบ้างกับกองทุน LTF ซึ่งมีการคำนวณไว้ว่า ในทุก ๆ 10,000 ล้านบาท ที่เข้ามาในตลาดหุ้น จะให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นไป 20 จุดได้”
ทั้งนี้ การปรับเป้าประมาณการดัชนีหุ้นไทย กับกรณีดังกล่าว ณ ขณะนี้ยังไม่มี เนื่องจากว่า หากตลาดหุ้นไทยฟันดาเทมทอลอยู่แถวบริเวณ 1,300 จุด แต่เมื่อไรก็ตาม ที่มีมาตรการทางการคลัง สามารถที่จะอยู่ที่ 1,400 จุดได้ จากที่เคยคำนวณไว้ แต่หากมีนโยบายการเงินเข้ามาช่วยเสริมด้วยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยสามารถขยับไปที่ 1,500 จุดได้ โดยมุมมองที่เคยให้ไว้ ตลาดหุ้นไทยจะอยู่แถวบริเวณ 1,300 - 1,500 จุด
วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีประเด็นทางการเมืิองที่ยังคงจับตาดูกันอยู่ต้องยอมรับว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ประเด็น แต่ส่วนตัวมองว่า ประเด็นที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือ ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งถือว่าสำคัญที่สุด หากมีการตัดสินออกมาแล้วหลุดก็ต้องมีความจำเป็นหานายกรัฐมนตรี คนใหม่ ซึ่งอาจจะมีแรงกระเพื่อมไปในพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจจะมีเสถียรภาพลดลงไปด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ หากรัฐบาลอยู่ไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปก็ต้องมีการยุบสภา และงบประมาณปี 2568 ก็ต้องล่าช้าออกไปอีก และหากไม่จบในเดือน ก.ย.2567 ก็จะเป็นเหมือนช่วงปีที่ผ่านมา ที่จะมีช่วงสุญญากาศงบลงทุนไม่สามารถเบิกได้ และจะกระทบเศรษฐกิจในไตรมาส 4/67
“ส่วนตัวมองว่า การยุบพรรคก้าวไกลไม่น่าจะมีอิมแพ็กสักเท่าไร เพราะฝั่งที่มีน้ำหนักมากกว่าจะเป็นฝั่งรัฐบาลที่มีผลต่อนโยบายมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ หากรัฐบาลต้องมีการปรับเปลี่ยนก็จะมีผลกระทบต่อจีดีพี”
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันยังไม่มีการปรับเป้าดัชนีหุ้นไทยลง หลังจากที่ได้มีการปรับไปเมื่อช่วงเดือนก.พ.2567 ที่ได้มีการประกาศงบไตรมาส 4/66 ไปแล้ว หลังจากนั้นยังไม่ได้มีการปรับแต่อย่างใด เนืื่องจากว่า ช่วงไตรมาส 1/67 กำไรบริษัทจดทะเบียนค่อนข้างดีกว่าคาด โดยรวมประมาณการทั้งปีที่ได้มีการทำไว้อยู่ที่ 91.5 บาท ไม่ได้มีการปรับลดลงอย่างมีนัยยะ โดยตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะอยู่แถวบริเวณ 1,470 จุด
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ เปิดเผยว่า ปัจจัยการเมืองในประเทศกลับมาไม่นิ่ง ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ทั้งการปรับคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1/1” ไม่ถึง 1 เดือน มีรัฐมนตรีประกาศลาออกถึง 3 ท่าน สะท้อนแรงกระเพื่อมภายในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจน และเรื่องด่วนที่มาแรงแซงทางโค้ง คือ กลุ่ม 40 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) วินิจฉัยว่านายกฯ ขาดคุณสมบัติหรือไม่จากกรณีแต่งตั้งคุณพิชิต ชื่นบานเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยศาลฯ มีมติรับคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา และให้นายกฯ ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
ถึงแม้ให้น้ำหนักว่า คำวินิจฉัยจะออกมาเป็นบวกต่อนายกฯ หลังได้มือดีทางกฎหมายอย่างอดีตรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าวจะสร้างความอึมครึมต่อตลาดต่อไปจนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้านี้ หรือภายในช่วงเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม ซึ่งอาจจะเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกันกับศาลฯ อาจมีคำวินิจฉัยของพรรคก้าวไกลในคดีล้มล้างการปกครองก็ได้
อย่างไรก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดย Composite PMI รวมของประเทศหลัก อาทิ สหรัฐฯ, ยูโรโซน, ญี่ปุ่น และอินเดียออกมาเพิ่มขึ้นทั้ง 4 ประเทศ นอกจากจะสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจโลกผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ยังส่งสัญญาณด้วยว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีการกระจายตัวมากขึ้น สอดคล้องกับประมาณการ GDP ปี 2567 ที่นักเศรษฐศาสตร์เริ่มปรับคาดการณ์ขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอิงจากสถิติการลงทุน 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อ Global Composite PMI รวมที่สูงกว่า 50 จุด ตลาดหุ้นใน EM มักจะมีการปรับขึ้นเร็วกว่าตลาดหุ้นใน DM หรือ Outperform โดยเฉลี่ย 10% เมื่อเทียบกับหุ้นทั่วโลก
สำหรับตัวเลขส่งออกไทยล่าสุดในเดือนเมษายนพลิกขยายตัว +6.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระจายตัวมากขึ้น น่าจะหนุนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะครึ่งหลังของปี บล.ทิสโก้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้ราว 2.0-2.6% จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยูโรโซนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และเศรษฐกิจจีนอาจฟื้นตัวได้ดีกว่าคาดหลังทางการมีแนวทางในการกระตุ้นเพิ่มขึ้น บล.ทิสโก้ยังคงมุมมองโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก
ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระจายตัวมากขึ้น และความไม่แน่นอนของปัจจัยการเมืองในประเทศ บล.ทิสโก้จึงแนะนำนักลงทุนเลือกหุ้นที่มีดีมานด์จากต่างประเทศช่วยหนุน แนะนำ AMATA, BDMS, GFPT, HANA, MINT และหุ้นที่คาดจะเข้า SET50 Index ในช่วงครึ่งปีหลัง แนะนำ BJC และ ITC เพราะฉะนั้น หุ้นเด่นของบล.ทิสโก้ในเดือน มิถุนายน คือ AMATA, BDMS, BJC, GFPT, HANA, ITC และ MINT ด้านแนวรับและแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1330, 1300 และ 1370, 1390, 1400-1410 จุด ตามลำดับ