’ตลท.’ รับห่วง ‘บล.แซดคอม‘ หากยุติบริการมาร์จิน หวั่นกระทบเซนทิเมนต์ตลาด

’ตลท.’ รับห่วง ‘บล.แซดคอม‘ หากยุติบริการมาร์จิน หวั่นกระทบเซนทิเมนต์ตลาด

ตลท. ยอมรับห่วง “บล.แซดคอม” ยุติการให้บริการ “มาร์จิน” เหตุหวั่นกระทบเซนทิเมนต์ทั้งตลาด ย้ำชัดยกเลิกหรือไม่ เป็นนโยบายบริษัท ย้ำทุกแนวทางต้องมีกระบวนการบริหารจัดการให้ราบรื่นสุด ไม่ส่งผลต่อภาพรวมทั้งระบบ ส่วนกรณี “เอ็นซีอาร์” ของธุรกิจ บล.อื่นๆ ยังไม่พบเสี่ยงเพิ่ม

ที่ผ่านมาจากกรณี บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จีเอ็มโอ-เซค คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Z.Com ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ ที่มีกระแสข่าวว่า Z.com ได้เรียกสินเชื่อซื้อหุ้นหรือมาร์จินคืนจากลูกค้า ทำให้ราคาหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กทรุดลงแรง จนถูกบังคับขาย (Forced Sell) หรือต้องนำเงินมาเติม

ทั้งนี้ สาเหตุที่ บล.แซดคอม ต้องเรียกมาร์จินคืนนั้น เนื่องจากมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ระดับต่ำจากเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้ต้องเก็บเงินสดมาเสริมสภาพคล่อง

โดยหลังจากนั้น บล.แซดคอม ได้ชี้แจงผ่านหน้าเว็บไซต์ว่า ขอให้ความมั่นใจแก่ผู้ลงทุนทุกท่านว่า บริษัทจะไม่ปิดกิจการอย่างแน่นอน ส่วนการให้บริการมาร์จินนั้น ยอมรับว่าอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนในประเด็นดังกล่าว ดังนั้น หากมีความคืบหน้าอย่างไร บริษัทจะแจ้งให้นักลงทุนทราบต่อไปอีกครั้ง 

’ตลท.’ รับห่วง ‘บล.แซดคอม‘ หากยุติบริการมาร์จิน หวั่นกระทบเซนทิเมนต์ตลาด

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า กรณีที่ทาง บล.แซดคอม จะให้บริการมาร์จินต่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายบริษัทจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ยอมรับว่า มีความเป็นห่วง ในกรณีที่บริษัทหากยุติบริการมาร์จินดังกล่าวแล้ว บริษัทจะมีการบริหารจัดการอย่างไร เช่น มีวิธีการขายหลักประกันอย่างไร และมีกรอบระยะเวลาบริหารจัดการถึงเมื่อไหร่ เพื่อไม่ให้มีผลต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทย

"ในเรื่องดังกล่าวทาง ตลท.มีการดูแลอยู่ และพูดคุยกัน สอบถามหากบริษัทจะไม่ให้บริการต่อ ต้องมีวิธีการบริหารจัดการในกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ อย่างราบรื่นที่สุด เช่น ควรจะกำหนดว่าจะยกเลิกบริการดังกล่าวภายในกี่เดือน และจะมีนโยบายในการยกเลิกบริการดังกล่าวอย่างไรบ้าง โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน และภาพรวมของตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน"

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทดังกล่าวไม่ดำเนินการบริการมาร์จินแล้ว  มองว่า บริษัทก็ยังดำเนินการต่อไปได้ เพราะว่ากรณีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ในเรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วง บริษัทยังคงอยู่ได้  

ขณะเดียวกัน ทาง ตลท. ได้ตรวจสอบข้อมูลการดำเนินธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์รายอื่นๆ แล้ว โดยพบว่า ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณว่ามีความเสี่ยงเช่นเดียวกับกรณี บล.แซดคอม เกิดขึ้นแต่อย่างใด   

อย่างไรก็ตาม ตามประกาศที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากกรณีที่ บล.ใดมี NCR ต่ำกว่าระดับ Early Warning 10.5% บริษัทต้องเร่งจัดทำแผนแก้ไข และหาก NCR < 7% ซึ่งทาง บล.ต้องระงับการขยายธุรกิจ ถัดจากนั้นหาก NCR < 0 และไม่สามารถแก้ไขได้ใน 5 วัน หรือไม่สามารถชำระราคาส่งมอบหลักทรัพย์ได้ตามกำหนด บริษัทต้องถูกระงับการประกอบธุรกิจ และโอนทรัพย์สินของลูกค้าไปยัง บล.อื่นภายในเวลาที่กำหนด 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของข่าวที่อ้างอิงว่า มี ธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน 25 แห่ง มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ ณ สิ้นปี 2566 ปัจจุบันทาง ตลท. ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้ว พบว่า ทางแหล่งข่าวดังกล่าวได้รวมเอาแพลตฟอร์ม (Platform) ที่ซื้อขายหุ้นที่ไม่ได้ถือไลเซนส์ (license) ในธุรกิจ บล. จำนวน 6 แห่งไปด้วย ซึ่งตามลักษณะของธุรกิจ platform นี้ จะมีผลการดำเนินงานขาดทุนในระยะเริ่มต้นอยู่แล้ว         

ดังนั้น หากพิจารณาธุรกิจหลักทรัพย์ ที่มี license ทั้ง 38 แห่ง จะมีที่ขาดทุนสุทธิเพียงจำนวน 18  ราย และหากนำรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโดยตรง (indirect cost) ออกไป (เช่น ค่าก่อสร้างอาคาร, ค่าที่ดิน ) เพราะไม่ได้สะท้อนผลประกอบการโดยตรง ซึ่งจะทำให้เหลือธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ที่ขาดทุนเพียงจำนวน 10 แห่ง จากทั้งหมดจำนวน 38 แห่งเท่านั้น 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์