เอฟเฟกต์ ‘มาร์จิน’ บล.แซดคอม นับถอยหลังเคลียร์หนี้ “หมื่นล้าน”
นอกจากปัจจัยทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ ยังมีประเด็นเสมือนคลื่นใต้น้ำที่มีผลต่อธุรกิจโบรกเกอร์ นักลงทุน และตลาดหุ้นไทย คือ ความเสี่ยงจากบัญชีมาร์จิน
ที่กำลังส่งผลกระทบหนักต่อ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จากมูลค่าปล่อยมาร์จินสูงถึงระดับหมื่นล้านบาท จะจัดการ “เคลียร์เม็ดเงินสูงขนาดนี้อย่างไร “
หลังผลกระทบดังกล่าวลุกลามจากที่บริษัททุ่มเงินเพื่อดันมูลค่าการซื้อขายล่ามาร์เก็ตแชร์ จนเจอเคส “หุ้นเปลี่ยนชีวิตโบรกเกอร์” หลายรายอย่าง MORE เกิดความเสียหายขาดทุนอย่างหนักและ บล . แซดคอม ต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 จำนวน 838 ล้านหุ้น จากการปล่อยมาร์จินให้ลูกค้าและรับหุ้น MORE เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ก่อนหน้านี้ บัญชีมาร์จินได้รับความนิยมและพุ่งสูงช่วงปี 2563 -2565 จากมูลค่าการซื้อขายพุ่งสูงแตะระดับ 3 แสนล้านบาท 2563 และยังอยู่ในระดับแสนล้านบาท ปี 2564 -2565 แต่หลังจากเกิดปัญหาหุ้น MORE ช่วงปลายปี 2565 จนต่อเนื่อง 2566 และ 5 เดือนแรกปี 2567 ตลาดหุ้นไทยเจอเคส หุ้นรายตัวเผชิญแรงขายจนดิ่งฟลอร์จนถูกบังคับขาย (Force Sell ) ทั้งที่จงใจ “เจ้าของนำมาเปิดบัญชีมาร์จินซะเอง” และเกิดตามภาวะตลาดแต่ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นหุ้นที่ถูกนำมาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนวนมาก
อาการซวนเซของ บล. แซด คอม เผชิญปี 2565 ขาดทุน 519 ล้านบาท และปี 2566 ขาดทุนอีก 517 ล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นและเอากำไรคืนได้ยาก ปรากฎเดือนพ.ค. ต้องประกาศพิจารณาให้บริการมาร์จิน แม้จะยังไม่ปิดกิจการแต่อาการดังกล่าวเป็นที่ทราบกันดีในอุตสาหกรรมว่า “ไม่รอด” และเตรียมถอนทุนออกจากตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้ เมื่อทุนใหญ่ญี่ปุ่น “จีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิ้งส์ อิ้งค์” ไม่ใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามาอีก
ต้นเดือนมิ.ย. เป็นการคอนเฟิร์มจากการแจ้งอย่างเป็นทางการ บล. แซด คอมยุติการให้บริการบัญชีมาร์จิน 20 ธ.ค. 2567 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเพิ่มมากขึ้น แต่บรรดา หุ้นที่เคยปล่อยมาร์จิ้น จำนวน 926 หลักทรัพย์ (13 พ.ค. 67) ถูกปรับเกรดลงมาเป็น F จากเดิมต้นเดือนพ.ค. ยังปล่อยมาร์จินหุ้นเกรด A มากถึง 237 หลักทรัพย์ เกรด B ที่ 115 หลักทรัพย์ หุ้นเกรด C จำนาน 61 หลักทรัพย์ หุ้นเกรด D จำนวน 65 หลักทรัพย์ หุ้นเกรด E จำนวน 355 หลักทรัพย์ และหุ้นเกรด F จำนวน 113 หลักทรัพย์
ทำให้เกิดความเสี่ยงหากลูกค้าไม่มีการนำเงินมาปิดบัญชีมาร์จินและปล่อยให้ บล. แซด คอม ดำเนินการเอง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่พ้น “เทขายในตลาดหุ้น” ใน “ทุกราคา” เพื่อนำเงินมา “ปิดตัวเลขขาดทุนจำนวนมาก”
ระยะเวลากำหนดมิ.ย. – ธ.ค. 2567 กับการแก้ไขปัญหาบัญชีมารจินจึงมีผลต่อหุ้นรายตัว โดยจะมีทั้งการฟ้องร้องทั้งจาก “นักลงทุนที่ได้รับความเสียหาย ” บล.แซดคอม เพราะทำตามเกณฑ์ถูกต้อง และ บล.แซดคอม “ฟ้องร้องลูกค้าที่เล่นตุกติก” ให้บริษัทรับขาดทุนไม่มาชำระเงิน ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ปี 2566 มีการดำเนินคดีลูกค้าและต้องปรับโครงสร้างลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้ 893 ล้านบาท และลูกค้าที่ถูกดำเนินการตามกฎหมายผิดนัดชำระหนี้ 402 ล้านบาท ทำให้ต้องรับรู้ผลขาดทุนทางเครดิต 331 ล้านบาท
ทั้งหมดเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นแน่นอนแต่ความเสียหายจะใหญ่จนกระทบภาพรวมตลาดหุ้น จากนี้ไปยังตีมูลค่าได้ยาก...