'ภากร' มอง 'หุ้นไทย' ครึ่งปีหลังฟื้นหนุน 7 ธีมลงทุนเด่น
"ภากร ปีตธวัชชัย" มอง "หุ้นไทย" ครึ่งปีหลัง ก้าวข้ามวิกฤติฝ่าโลกเดือด รับข่าวดี จีดีพีไทยปีนี้ฟื้นโต 3% และระบบการเงินยังแกร่งพร้อมชูจุดแข็ง 7 ธีมลงทุนธุรกิจโตโดดเด่น ชี้หุ้นไทยราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี เป็นจังหวะน่าลงทุน
บทเวที งานสัมมนา INVESTMENT FOURUM 2024 เจาะขุมทรัพย์ลงทุน...ยุคโลกเดือด! โดย กรุงเทพธุรกิจ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ : กลยุทธ์ตลาดหุ้นไทยฝ่าสถานการณ์โลก ว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลัง มีโมเมนตัมเชิงบวกจาก "มีข่าวดี" การส่งออก การบริโภค และการใช้จ่ายภาครัฐ เร่งตัวขึ้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัว 3%
ขณะที่ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ และมีสภาพคล่องสูง ด้วยหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ระดับต่ำ 64% ,เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 19.7% และตราสารหนี้ไทยสัดส่วน 93% ของตลาดรวม เป็นระดับลงทุน( investment grade ) มีความเสี่ยงน้อย และอัตราเร่งเงินเฟ้อไม่มาก
ขณะเดียวกันในระยะข้างหน้า ตลาดหุ้นไทยยังมีทั้ง "จุดแข็ง และโอกาสในการลงทุน" ภายใต้ 7 กลุ่มธุรกิจหลัก ที่ยังมีโอกาสเติบโตโดดเด่น ประกอบด้วย
1.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว (Hospitality and Tourism) 2.ธุรกิจที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายภาครัฐ (Government Stimulus) 3.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายฐานการผลิต (Relocation Opportunities) 4.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก (Global Play)
5. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (Sustainability ) 6.ธุรกิจที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ (Dividend Play) และ 7. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ New Economy (Transition to New Economy)
"มองว่า แม้ตลาดหุ้นไทย จะไม่เซ็กซี่ แต่ก็มีความยั่งยืน ด้วยธุรกิจที่เป็นเหมือนปัจจัย 4 และเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ได้แก่ อาหาร ท่องเที่ยว เฮลท์แคร์ และพลังงานทดแทน ปัจจัยการเมืองในประเทศมีผลต่อหุ้นไทยน้อยกว่าปัจจัยเศรษฐกิจ และครึ่งปีหลังเริ่มมีมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุนทยอยออกมา ทั้งกองทุน ThaiESG ใหม่ และกฎระเบียบใหม่ยกระดับตลาดทุน และสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุน อีกทั้งซีกโลกตะวันออกมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย ยิ่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศเข้ามาทั้งในตลาดหุ้นไทย และ FDI "
7 กลุ่มธุรกิจหลัก โตเด่น
ทั้งนี้ 7 กลุ่มธุรกิจหลัก ที่ยังมีโอกาสเติบโตโดดเด่น 1.“ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว” นั้น จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทย เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Well-Being ในระดับโลก พร้อมรองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทใหญ่ ใน SET Well -Being Index มีอยู่ถึง 30 หลักทรัพย์ จาก 7 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว และสันทนาการ ธุรกิจเกษตร ขนส่งและโลจิสติกส์ แฟชั่น การแพทย์ อาหาร และเครื่องดื่ม และการพาณิชย์
ต่อมาเป็น 2.“กลุ่มบริษัทที่จะได้อานิสงส์จากมาตรการรัฐ” ทั้งจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเร่งตัวในช่วงที่เหลือของปี จะกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่จะออกมา เป็นโอกาสในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งธุรกิจก่อสร้าง (รับเหมา นิคมอุตสาหกรรม) ธุรกิจพาณิชย์ (ร้านสะดวกซื้อ ค้าปลีก สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้าผลิตภัณฑ์ไอที ) สินค้าอุปโภคและบริโภค (แฟชั่น ของใช้ในครัวเรือ และสำนักงาน สินค้าตกแต่งบ้าน ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์) อาหารและเครื่องดื่ม (ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง)
ขณะที่ 3. “กลุ่มบริษัทที่จะได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ” โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ผ่านมาเห็นว่ามีโครงการต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีทั้งสิ้น 472 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 1.98 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้อุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุน มีทั้งบริษัทด้านดาต้า เซนเตอร์ ดิจิทัล นิคมอุตสาหกรรม วิศวกรรม การจัดซื้อ และการก่อสร้าง สาธารณูปโภค และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
อีกกลุ่มที่สำคัญ คือ 4. “กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก” เป็นกลุ่มบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศสูง ซึ่งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยได้ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ และมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีบริษัทจดทะเบียน 335 บริษัท บริษัทจดทะเบียนได้เปิดเผยรายได้จากต่างประเทศโดยรวมสูงถึง 5.81 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องไปดูบริษัทใดที่มีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และเป็นบริษัทที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในบางเวลาด้วย
เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลบริษัทขนาดใหญ่ (Big-Cap) กว่า 20-30 บริษัทใน 10 อุตสาหกรรม มีรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 71% รองลงมาคือ บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (Mid & Small-Cap) 20-30 บริษัทใน 10 อุตสาหกรรม มีรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 55% แต่อย่างไรก็ดีควรพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่นประกอบด้วย
5.“กลุ่มบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านความยั่งยืน” ขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนของไทยสามารถเติบโต และเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมทั้งยังมีบริษัทหลายแห่งที่อยู่ในดัชนีความยั่งยืนโลก เช่น Down Jones 28 บริษัท, FTSE4Good 43 บริษัท และ MSCI 35 บริษัท ในจำนวนนี้ยังมีอีก 14 แห่งที่ได้ Top ESG Score ของ S&P Global ด้วย
ส่วน 6.“กลุ่มบริษัทที่มีการจ่ายปันผลที่ดี” ซึ่งมีอยู่กว่า 30 บริษัทขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องสูง จ่ายปันผลสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน และกิจการมีโอกาสเติบโตในอนาคต ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องพิจารณา ขณะที่กลุ่มสุดท้าย 7. “กลุ่มบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเป้าหมาย” (New Economy) ขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนไทยกว่า 165 แห่ง ที่ดำเนินธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ New Economy เช่น ดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซ, สุขภาพ, เชื้อเพลิงชีวภาพ และยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น
โอกาสมา! หุ้นไทยราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี
นายภากร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ และความผันผวนต่างๆ ในตลาดทุนเป็นทั้งโอกาส และความเสี่ยงในการลงทุน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด แนะนำว่า นักลงทุนควรต้องพิจารณา ความเสี่ยง 4 ด้าน ได้แก่ 1.ปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายภาครัฐ 2.อัตราเงินเฟ้อ นโยบายการเงิน และภาวะหนี้ครัวเรือน 3.การฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ ที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน และ 4.ความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ไม่สามารถประเมินได้
แต่ในเวลานี้ ราคาหุ้นแต่ละอุตสาหกรรม ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และราคาหุ้นจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวแบบ “K Shaped” และนักวิเคราะห์ยังมองแนวโน้มผลประกอบการ และเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีในอนาคต
"มองว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงในช่วงนี้ ยังเป็นโอกาสเข้าลงทุน แต่ยังต้องพิจารณาเลือกหุ้นเป็นรายตัว หรือรายบริษัท บางส่วนยังไม่ฟื้น เช่น ไอที อาหาร เกษตร พลังงาน การเงิน แต่มีน้ำหนักในตลาดหุ้นไทย และหุ้นบางส่วนฟื้นตัว เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม นับว่า มีความน่าสนใจ"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์