เวียดนาม เผย GDP ไตรมาส 2 สูงกว่าคาด 6.93% ดัชนี VN รับแรงหนุนหุ้นกลุ่ม mid-cap ผลตอบแทน 3.05%

เวียดนาม เผย GDP ไตรมาส 2 สูงกว่าคาด 6.93% ดัชนี VN รับแรงหนุนหุ้นกลุ่ม mid-cap ผลตอบแทน 3.05%

เวียดนาม เผย GDP 2/67 สูงกว่าคาด 6.93% ดัชนี VN รับแรงหนุนหุ้นกลุ่ม mid-cap ผลตอบแทน 3.05% และ small-cap ที่ปรับตัวขึ้น 2.96% และ 2.33% ตามลำดับ

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ดัชนี VN-Index เพิ่มขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข่าวเชิงบวกหลายๆ ข่าว และยังคงยืนอยู่เหนือเส้นแนวโน้มค่าเฉลี่ย 100 วัน ได้ ซึ่งบ่งชี้ว่า แนวโน้มตลาดขาขึ้นน่าจะยังคง อยู่หลังจากที่ดัชนีปรับลดลงนับจากกลางเดือนมิถุนายน 2567

โดยนักลงทุนในประเทศเวียดนามตื่นเต้นกับข่าวดีทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์ ได้แก่ 

1.) การเติบโตของ GDP ไตรมาส 2 ปี 2567 สูงกว่าที่คาดไว้ที่ 6.93%

2.) ดัชนี PMI เดือนมิถุนายน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 54.7% ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตกำลังได้ดี 

3.) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และดุลการค้าแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 1.163 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตามลำดับ

4.) สินเชื่อ และเงินฝากในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
 

ทั้งนี้ การปรับขึ้นของราคาหลักทรัพย์ยังคงดำเนินต่อไปในวงกว้างนำโดยหุ้นกลุ่ม mid-cap ด้วยผลตอบแทน 3.05% ตามด้วยหุ้นกลุ่ม large-cap และ small-cap ที่ปรับตัวขึ้น 2.96% และ 2.33% ตามลำดับ กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 10 กลุ่มปรับตัวขึ้น โดย 37 ใน 40 หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ มีราคาเพิ่มขึ้น มีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ราคาลดลง ซึ่งไม่เคยเห็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันเช่นนี้มานานแล้ว โบรกเกอร์ และสื่อท้องถิ่นต่างมีมุมมองในแง่ดีมากขึ้น โดยเชื่อว่า VN-Index จะพยายามเพื่อพิชิตระดับ 1,300 จุดอีกครั้งในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจคือ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลงอย่างมากถึง 37.8% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า เหลือ USD655m (23,800 ล้านบาท)แม้ว่านักลงทุนในประเทศจะได้รับแรงบันดาลใจจากข่าวดีข้างต้น แต่ก็ยังต้องระมัดระวังปัจจัยอื่นๆ เช่น

  • แรงขายที่หนักหน่วงจากนักลงทุนต่างชาติ
  • ยอดการกู้ยืมเพื่อลงทุน (Margin lending) ที่สูงในโบรกเกอร์ส่วนใหญ่
  • ความผันผวนของคำเงินที่ยังคงดำเนินอยู่
  • ข่าวลือว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

นักลงทุนต่างชาติยังคงสถานะขายสุทธิอยู่ที่ USD85m หรือ 3,000 ล้านบาท ในสัปดาห์นี้ โดยหุ้นที่ขายออกมากที่สุดคือ VRE, FUEVFVND และ FPT ในทางกลับกัน หุ้นที่นักลงทุนต่างชาติซื้อมากที่สุดคือ DSE, BID และ MCH

ขณะเดียวกัน ข้อมูลล่าสุดของ iShares Frontier and Select EM ETF ได้เปิดเผยว่า กองทุนได้ถอนการลงทุนออกจากเวียดนามเกือบทั้งหมด (เหลือน้ำหนักเพียง 0.26%)

ขณะที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งเวียดนาม ได้รายงานว่ามีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เปิดใหม่ 106,765 บัญชีในเดือนมิถุนายน (เทียบกับ 132,010 บัญชีในเดือนพฤษภาคม) ท่ามกลางการปรับตัวของตลาดตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ปัจจุบันมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์รวม 8.04 ล้านบัญชี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งคิดเป็น 8% ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่แท้จริงอาจต่ำกว่านี้ เนื่องจากนักลงทุนหนึ่งรายสามารถเปิดได้หลายบัญชีกับโบรกเกอร์ต่างๆ

นอกจากนี้ S&P Global Ratings จัดอันดับเครดิตของประเทศเวียดนามที่ BB+  เศรษฐกิจของเวียดนามถือเป็นเกรดที่น่าลงทุน โดยอันดับเครดิตระยะยาว BB+ คงที่ และอันดับเครดิตระยะสั้น: B ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ 5.8% ในปี 2024 และ 6.5% ถึง 7% ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
ปัจจัยบางประการที่ S&P Global Ratings มองว่า เป็นผลดีต่ออันดับเครดิตของเวียดนาม และปัจจัยเหล่านี้ถือว่าสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว

1. ภาคการผลิตที่ได้รับทุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นส่วนใหญ่
2. แรงงานรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีความสามารถในการแข่งขัน
3. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและเครือข่ายโลจิสติกส์ที่พัฒนาอย่างดีสำหรับการส่งออก

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์