SBNEXT ตอบ ก.ล.ต. ข้อกังขาโยกเงิน เผยกรรมการตัวแทน SABUY มีเอี่ยวทุกรายการ

SBNEXT ตอบ ก.ล.ต. ข้อกังขาโยกเงิน เผยกรรมการตัวแทน SABUY มีเอี่ยวทุกรายการ

"เอกรัตน์ แจ้งอยู่" แจง "ก.ล.ต." กรณีบริษัทนำสินทรัพย์ SBNEXT ไปค้ำประกันบุคคล เผยกรรมการฝั่ง SABUY ล้วนร่วมอนุมัติ ระบุผู้บริหารชุดปัจจุบันเร่งสะสางให้ได้ใน ต.ค. 67 ส่วนการโยกเงินเล่นหุ้นยืนยันทราบภายหลัง มีหุ้นเกี่ยวข้องได้แก่ SABUY, AMATA, AS, PTECH, SINGER และ SVT

นายเอกรัตน์ แจ้งอยู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ SBNEXT เปิดเผยเอกสารรายงานข้อมูลตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโดยกำหนดให้บริษัทต้องชี้แจงภายในวันที่ 10 ก.ค. 2567 กรณีไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกันและการลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งมีผลให้ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นในงบการเงินไตรมาส 1/2567 โดยในรายงานมีสาระสำคัญดังนี้

คําถามจากสํานักงาน ก.ล.ต. : 1. กรณี SBNEXT ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกัน กรณีการกู้ยืมเงินจากบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน และการนําสินทรัพย์ของ SBNEXT ไปค้ำประกันให้บุคคลที่เกี่ยวโยงกัน

คําอธิบายโดยสรุป : ฝ่ายจัดการไม่ได้นำเสนอข้อมูลการเข้าทำรายการดังกล่าวระหว่างบริษัทกับบุคคล หรือนิติบุคคลที่เกี่ยวโยงกันให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัททราบก่อนเข้าทำรายการเกี่ยวโยงกันดังกล่าว

 

ทั้งนี้ เกิดรายการทั้งสิ้น 7 รายการ

  • รายการที่ 1 บริษัทกู้ยืมจาก บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY จำนวนประมาณ 889 ล้านบาท วันที่เกิดรายการระหว่าง มี.ค. 2566 - มี.ค. 2567
  • รายการที่ 2 บริษัทนำหุ้นสามัญที่บริษัทถืออยู่ใน SABUY จำนวน 19,047,620 หุ้น มูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท ไปค้ำประกันตามสัญญาจ้างผลิตบัตรพลาสติก และให้บริการเครื่องพิมพ์บัตรพลาสติก และระบบบริหารจัดเก็บคลังสินค้า ระหว่าง บริษัท ที่.เค.เอส. สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ TKS กับ บริษัท พลัส เทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTECH และบริษัท วันที่เกิดรายการ 20 ต.ค. 2566
  • รายการที่ 3 บริษัทนำหุ้นสามัญที่บริษัทถืออยู่ใน SABUY จำนวน 11,050,000 หุ้น ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันร่วมกับ SABUY สำหรับเงินกู้ยืมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB วันที่เกิดรายการ 24 ม.ค. 2567
  • รายการที่ 4 การจดจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อค้ำประกันธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้กับ SABUY จำนวน 100 ล้านบาท วันที่เกิดรายการ 27 ก.พ. 2567
  • รายการที่ 5 บริษัทเข้าทำสัญญาเงินกู้ยืมระยะสั้นจากบุคคลอื่นจำนวน 50 ล้านบาท โดยมีหลักประกัน คือ (1) การจำนำหุ้นที่ SBNEXT ถืออยู่ใน SABUY จำนวน 22,140,000 หุ้น และ (2) นายชูเกียรติ รุจนพรพจี เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าว วันที่เกิดรายการ 28 ก.พ. 2567
  • รายการที่ 6 บริษัทกู้ยืมเงินจาก บริษัท นครหลวง แคปปีตอล จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 45 ล้านบาท วันที่เกิดรายการ 4 มี.ค. 2567
  • รายการที่ 7 เงินกู้ยืมของบริษัทจาก บริษัท ลอคบอกซ์ กรุ๊ป จำกัด จำนวนเงิน 30 ล้านบาท โดยมีการให้หลักประกัน คือ (1) การจำนำหุ้นที่ SBNEXT ถืออยู่ใน SABUY จำนวน 20 ล้านหุ้น และ (2) นายชูเกียรติ รุจนพรพจี เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าว วันที่เกิดรายการ 14 มี.ค. 2567

ทั้งนี้แต่ละรายการมีรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการบริหาร เป็นคณะกรรมการตรวจสอบความเสี่ยง และเป็นคณะกรรมการบริษัททั้งซ้ำชุดบุคคลและต่างบุคคลออกไปในแต่ละรายการและบางหลายการมีหลายวาระ ซึ่งรวบรวมเฉพาะกรรมการบริหารใน 7 รายการ (กรรมการ 1 คนอาจเกี่ยวโยงมากกว่า 1 รายการ) มีรายชื่อได้แก่

ตัวแทน SABUY : นายชูเกียรติ รุจนพรพจี, นายวรานนท์ คงปฏิมากร, นายพรวิทย์ ไหลท่วมทวีกุล, นายกิตติพล ฐานะสิทธิ์, นายวชิรธร คงสุข, นางสาวภรัณยา รุจนพรพจี, นางสาวทัศน์วรรณ บุญอนันต์, นายวิรัช มรกตกาล และนายณัฐตภาคย์ นวลแก้ว (นายณัฐตภาคย์ นวลแก้ว เป็นผู้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นําเสนอบางวาระ) / ตัวแทนที่ไม่ใช่ฝั่ง SABUY : นายเอกรัตน์ แจ้งอยู่ และนายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์

อย่างไรก็ตามพบว่าทั้ง 7 รายการล้วนมีผู้บริหารฝั่งตัวแทน SABUY เกี่ยวข้องในการประชุมด้วยทั้งสิ้น

สำหรับความคืบหน้าและระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขรายการดังกล่าวให้มีความถูกต้องตามหลักเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกัน บริษัทได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนต.ค. 2567 โดยบริษัทจะดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษากฎหมาย, จัดจ้างที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (เพื่อให้ขอความเห็นต่อการเข้าทำรายการ) และจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติ หรือให้สัตยาบันต่อการเข้าทำรายการดังกล่าวให้ถูกต้อง

คําถามจากสํานักงาน ก.ล.ต. : 2.การนําเงินกู้ยืม SABUY สถาบันการเงิน และบุคคลอื่นไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนําไปลงทุนในหลักทรัพย์

คําอธิบายโดยสรุป : เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 คณะกรรมการบริษัทได้มีการอนุมัติการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์โดยมีประเภทบัญชีที่ต้องการเปิดได้แก่ Cash, Cash balance, Credit balance โดยมีวงเงินที่ต้องการซื้อขายไม่เกิน 400 ล้านบาท

ทว่า พบการทำรายการซื้อขายเกินกรอบนโยบายการลงทุนในบางวัน ซึ่งกำหนดให้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายการ และจำนวนเงินซื้อ/ลงทุนรวมสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อวัน โดยรายละเอียดดังกล่าวและปริมาณการซื้อขายหุ้น SABUY ของบริษัทไม่มีการรายงานฐานะในบัญชีเงินลงทุนและผลการบริหารบัญชีเงินลงทุนให้คณะกรรมการบริษัททราบทุกไตรมาส และไม่มีการรายงานฐานะในบัญชีเงินลงทุนและผลการบริหารบัญชีเงินลงทุนต่อคณะกรรมการลงทุนทราบทุกเดือน

ชื่อผู้อนุมัติการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ SBNEXT เข้าลงทุนในแต่ละครั้งคือ นายวรานนท์ คงปฏิมากร หรือนายกิตติพล ฐานะสิทธิ์

หลักทรัพย์ที่เข้าลงทุนได้แก่ SABUY, AMATA, AS, PTECH, SINGER และ SVT

การเข้าลงทุนไม่สอดคล้องกับอำนาจการตัดสินใจลงทุนและวงเงินที่กำหนดไว้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมถึงบริษัทและผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ได้รับกำไรจากการขายหลักทรัพย์ หรือมีอำนาจการควบคุม อีกทั้งไม่มีการปฏิบัติตาม นโยบาย STOP Loss Limit ที่กำหนดไว้ที่ 30% และไม่มีการรายงานการเคลื่อนไหวของรายการหุ้นในพอร์ตให้กับคณะกรรมการบริษัทให้รับทราบ

ฝ่ายจัดการคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ทราบถึงการทำรายการที่เกี่ยวโยงดังกล่าว ในวันที่ 6,14,20 มิ.ย. 2567 เนื่องจากได้รับหนังสือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริหารชุดปัจจุบันยังไม่ได้รับ Username & Password และข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ จึงไม่ได้มีการรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ (แบบ 246-2) ของ SABUY

คําถามจากสํานักงาน ก.ล.ต. : 3.การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญของผลขาดทุนด้านเครดิต

คําอธิบายโดยสรุป : คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทพิจารณาแล้วมีความเห็น ควรปรับปรุงกระบวนการ โดยให้ฝ่ายจัดการดำเนินการดังนี้ แต่งตั้งคณะทำงานการตัดหนี้สูญ, ปรับปรุงนโยบายการตัดหนี้สูญเพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานของบริษัท เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก และกำหนดให้มีการรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท เป็นประจำทุกเดือน