"ดีเอสไอ" จ่อออกหมายเรียกเพิ่ม 5 บุคคลใหม่ ผ่องถ่ายเงินโกง STARK ร่วม 380 ล้าน
"ดีเอสไอ" เผยกรณีโกงหุ้น STARK พบ มีเงินไหลออกจากกลุ่มผู้กระทำผิด 7 ราย โอนถ่ายเงินยังบัญชีในประเทศรวม 380 ล้านบาท จึงจ่อออกหมายเรียกสอบเพิ่มพร้อมแจ้งข้อหาใน 2 สัปดาห์จากนี้ โดยมี 2 รายเป็นผู้ต้องหาเดิมที่ถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว
พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยผ่านการแถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดี และการติดตามทรัพย์สินในคดีทุจริตหุ้น STARK คดีพิเศษที่ 57/2566 ว่า หลังจากวันที่ 23 มิ.ย. 2567 ได้รับตัวผู้ต้องหารายสุดท้ายคือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหารโดยการจับกุม
ปัจจุบันมีการสั่งฟ้องดำเนินคดี และมีการนำตัวผู้ต้องหาควบคุมตัวไว้ภายในเรือนจำครบถ้วนทั้ง 11 รายแล้ว โดยยังไม่มีใครได้รับการประกันตัว
อนึ่ง รายชื่อผู้ต้องหา ได้แก่ นายชนินทร์ (สงวนนามสกุล) อดีตประธานกรรมการบริษัท นายวนรัชต์ (สงวนนามสกุล) อดีตกรรมการบริษัท นายศรัทธา (สงวนนามสกุล)อดีตกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี และการเงิน นายกิตติศักดิ์ (สงวนนามสกุล)อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด นางสาวยสบวร (สงวนนามสกุล) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลและกรรมการบริษัทย่อย นางสาวนาตยา (สงวนนามสกุล) อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ส่วนความคืบหน้าจากการขยายผลเส้นทางการเงิน พบเงินไหลออกจากกลุ่มผู้กระทำความผิด 7 ราย แบ่งเป็นบุคคลอื่น 5 ราย ส่วนอีก 2 รายเป็นผู้ต้องหาเดิมที่ถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำ
บางรายมีการโอนเงิน 50 ล้านบาท บางราย 100 ล้านบาทเศษ ซึ่งการสืบสวนพบการโอนไปยังบัญชีในประเทศ รวมมูลค่าการโอนเงินทั้งสิ้น 380 ล้านบาท ทั้งหมดจะต้องถูกสอบสวน แจ้งข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งจะทยอยออกหมายเรียกให้เร็วที่สุด คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์
ด้านนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย ในฐานะโฆษกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยถึงการติดตามอายัดทรัพย์สินที่มีมูลค่ารวม 3,245 ล้านบาทว่า โดยหลักกฎหมาย ปปง. ต้องยื่นเรื่องเพื่อให้ทรัพย์เหล่านี้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่กรณีนี้ทรัพย์สินเป็นของผู้เสียหาย
สำนักงาน ปปง. จึงประกาศให้ผู้เสียหายยื่นขอคุ้มครองสิทธิของตน ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2566 - 29 ก.พ.2567 รวมเวลา 90 วัน ซึ่งมีผู้ยื่นขอรับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิ้น 4,724 ราย แบ่งการคุ้มครองออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ หุ้นกู้, หุ้นเพิ่มทุน และหุ้นสามัญ มีมูลค่าความเสียหายตามคำร้องที่มีการยื่นเข้ามารวม 15,900 ล้านบาท
ทั้งนี้ต้องมีการตรวจสอบผู้เสียหายแต่ละรายเข้าหลักเกณฑ์การคุ้มครองที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ แล้วจึงสรุปเรื่องส่งให้คณะกรรมการธุรกรรม ของสำนักงาน ปปง.เพื่อให้มีมติยื่นส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อพนักงานอัยการส่งคำร้องต่อศาล เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายต่อไป การพิจารณาคืนเงินงวดแรกให้กับผู้เสียหายนั้น ขึ้นอยู่ที่คำสั่งศาลถึงที่สุดใน 3 ศาล
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์