เปิด189 หุ้นเทรด ‘ต่ำบุ๊ก' ตลท. ชี้ หุ้นใน SET 50 นักลงทุนส่งสัญญาณทยอยซื้อคืน

เปิด189 หุ้นเทรด ‘ต่ำบุ๊ก' ตลท. ชี้ หุ้นใน SET 50  นักลงทุนส่งสัญญาณทยอยซื้อคืน

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี หรือ ดัชนีหลุดระดับ 1,300 จุด ! สะท้อนภาพตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น ส่งผลให้มีแรงขายจำนวนมากของนักลงทุน เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักฉุด “อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทรัพย์สินทางบัญชี” (P/B Ratio) ปรับตัวลง 

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิด 189 หุ้น ในดัชนี SET50 ที่กำลังซื้อขาย (เทรด) ด้วยราคาหุ้น ที่ต่ำกว่า “มูลค่าทางบัญชี” (Book Value) ยังพบว่าเป็นการกระจุกตัวกลุ่ม “ธนาคาร-โรงไฟฟ้าปิโตรเคมี” โดย “กรุงเทพธุรกิจ” สอบถามผู้เกี่ยวข้องถึงประเด็นดังกล่าว...  

“ศรพล ตุลยะเสถียร” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. ได้พิจารณา P/B ratio ซึ่งเปรียบเทียบราคาหุ้นของบริษัทกับมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น พบว่าปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 57.1% ของหุ้นใน SET Index (ณ 3 ก.ค.2567) มีอัตราส่วน P/B ของบริษัทต่ำกว่า 1 ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าตลาดกำลังประเมินมูลค่าบริษัทต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของบริษัท   

เปิด189 หุ้นเทรด ‘ต่ำบุ๊ก\' ตลท. ชี้ หุ้นใน SET 50  นักลงทุนส่งสัญญาณทยอยซื้อคืน

โดยหากพิจารณาหุ้นในแต่ละขนาดของ “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (มาร์เก็ตแคป) ยังพบว่า หุ้นใน SET50 ที่  P/B ของบริษัทต่ำกว่า 1 มีจำนวน 189 บริษัท มีสัดส่วน 30% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 630 บริษัท และหุ้นที่ไม่ได้อยู่ใน SET50 ที่ P/B ของบริษัทต่ำกว่า 1 มีจำนวน 29 บริษัทมีสัดส่วน 59% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 50 บริษัท 

สะท้อนตลาดกำลังประเมินมูลค่าบริษัทต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของบริษัท จุดนี้มีความน่าสนใจว่า เริ่มมีสัญญาณที่ นักลงทุนระยะยาวหรือนักลงทุนเน้นปัจจัยพื้นฐาน อาจกลับมาพิจารณาเข้าลงทุนซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่าที่บริษัทลงทุนไป นับเป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับ หุ้นที่มีอัตราส่วน P/B ของบริษัทต่ำกว่า 1 กระจายอยู่ในหลายอุตสาหกรรม  โดย 8 อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน อัตราส่วน P/B ของบริษัทต่ำกว่า 1 ดังนี้ 

1. อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค สัดส่วน 78% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 45 บริษัท

2.อุตสาหกรรมการผลิตและจัดจำหน่าย สัดส่วน 70% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 93 บริษัท

3.อุตสาหกรรม เทคโนโลยี สัดส่วน 67% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 43 บริษัท

4.อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วน 65% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 164 บริษัท 

5.อุตสาหกรรมทรัพยากร สัดส่วน 63% ของจำนวนหุุ้นทั้งหมด 68 บริษัท

6.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สัดส่วน 57% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 67 บริษัท 

7.อุตสาหกรรมการเงิน (ไฟแนนซ์) สัดส่วน 35% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด 68 บริษัท

8. อุตสาหกรรมบริการ สัดส่วน 30% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด  132 บริษัท 

สถานการณ์ดังกล่าวหากมองปัจจัยพื้นฐาน ในภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีโอกาสกำไรกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ดังนั้น หุ้นส่วนใหญ่เทรดราคาต่ำบุ๊ก และผลดำเนินงานบริษัทยังดี ส่งผลทำให้บางบริษัทกลับมาซื้อหุ้นคืน 

พบว่า บจ.ไทย มีจำนวนทำรายการซื้อขายหุ้นคืน ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ค่อนข้างสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน นี่ถือเป็นจุดหนึ่งสะท้อนได้ว่า บริษัทอาจมองมูลค่าหุ้นของบริษัท ไม่น่าจะต่ำกว่าตามที่ตลาดกำลังประเมินมูลค่าบริษัทต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทจึงเริ่มทยอยเข้ามาซื้อหุ้นคืน 

“รัฐศักดิ์ พิริยะอนนท์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า สำหรับ “หุ้น 10 อันดับแรก” ใน SET 50 ที่มี P/B ต่ำที่สุด ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 2.บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 3.บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) 4. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 5. บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) 6.ธนาคารกรุงไทย (KTB) 7.บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) 8. บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) 9. บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ10. บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) โดยจะสังเกตได้ว่าหุ้นส่วนใหญ่ในกลุ่ม 10 ตัวนี้ จะมาจากกลุ่มธนาคาร, โรงไฟฟ้าและปิโตรเคมี

โดยฝ่ายวิจัย ประเมินว่า “หุ้นกลุ่มธนาคาร” ในกลุ่มนี้เทรด valuation P/B ที่ต่ำเนื่องจาก ROE ของกลุ่มธนาคารลดลง  รวมทั้ง มูลค่า (valuation) หุ้นที่ถูก อาจมีเหมาะสมเนื่องจากสะท้อนว่า “ความสามารถในการทำกำไรที่น้อยลงของธนาคาร” จากรายได้ค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มลดลง และการตั้งสำรองหนี้เสียที่สูงขึ้น มองไปข้างหน้าผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร อาจเติบโตได้เพียง “ปานกลาง” เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดแล้ว และการเติบโตของสินเชื่ออาจขยายตัวได้เพียงปานกลาง

       ด้าน “หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า” เทรดมูลค่า valuation P/B ที่ถูกลงมาเนื่องจากต้นทุนจากราคาก๊าซที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่มีความเสี่ยงเรื่องการปรับค่า FT ที่อาจไม่เพียงพอชดเชยกับต้นทุน เนื่องจากนโยบายประชานิยมภาครัฐ แม้ระยะสั้นอาจมีการปรับค่าไฟเพิ่มซึ่งเป็น sentiment บวกกับกลุ่มแต่ค่าก๊าซมีแนวโน้มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังอาจเป็นประเด็นเสี่ยงเนื่องจากรัฐอาจจะไม่ปรับขึ้นค่า Ft ให้สะท้อนต้นทุนค่าก๊าซ

       สุดท้าย “หุ้นกลุ่มปิโตรเคมี” มีเทรด P/B ถูกเนื่องจากค่าสเปรดของปิโตรเคมีอ่อนตัวลงจากปัญหาอุปทานล้นท่ามกลางการอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวช้า อีกทั้ง PTTGC ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มคาดมีการบันทึกตั้งสำรองการด้อยค่าเงินลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาท จึงเป็นประเด็น “กดดัน” เซนทิเมนต์ และมูลค่าหุ้น (Valuation) ของกลุ่ม อย่างไรก็ดี แนวโน้มผลประกอบการน่าจะฟื้นตัวได้ดีในปีหน้าเนื่องจากฐานของกำไรที่ต่ำในปีนี้  

      “จิติพล พฤกษาเมธานันท์” Head of Global Investment Strategy บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า หุ้นใน SET50 ที่ P/B ของบริษัทต่ำสุด แนะนำ  BBL KBANK KTB  BCP TOP สำหรับหุ้นธนาคาร เน้นหุ้นปันผลเพราะอาจมีความเสี่ยงผลการดำเนินงานไม่ค่อยเติบโต แต่มีความน่าสนใจที่ราคาหุ้นยังไม่แพง และหุ้นปิโตรเคมี เน้น “เทรดสั้น” มีปัจจัยน้ำมัน และค่าการกลั่นที่ปรับตัวดีขึ้น

    “ประเด็นเรื่องความถูกของหุ้น นักลงทุนคงต้องชั่งน้ำหนักกว่าเป็น value trap หรือถูกแต่ไม่ไปไหนหรือไม่ มองธนาคารง่ายที่สุดเพราะจ่ายปันผลสูงได้ต่อเนื่องดีสำหรับการลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกันความชัดเจนที่ตลาดต้องการคือ รายได้ และกำไรของ บจ. ถ้าเห็นฟื้นตัวจริง ประกาศงบไตรมาส 2 ปี 2567 น่ากลับมาสะ    สม ส่วนต่างชาติจะกลับมาเร็วหรือไม่ อาจต้องจับตาไปที่ทิศทางของดอลลาร์ มองว่าถ้าแนวโน้มการลดดอกเบี้ยมาจริงมีโอกาสสูงที่เงินทุนจะพลิกกลับเข้าตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ (EM) และหุ้นไทย”

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์