EA จัดทัพใหม่หวังกู้วิกฤติ มั่นใจคืนหนี้ “แบงก์-หุ้นกู้” ครบทั้งหมด
EA ปรับทัพหลัง “สมโภชน์-อมร” พ้นผู้บริหารเหตุโดน กลต.กล่าวโทษปมซื้ออุปกรณ์-ซอฟต์แวร์ ตั้ง “สมใจนึก” ประธานบอร์ด-รักษาการซีอีโอ ดึง “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” เป็นกรรมการ จ่อดึง “สุพันธุ์ มงคลสุธี” เข้ามาด้วย เดินหน้าแผนออกหุ้นกู้ เชื่อเงินสดไม่สะดุด แบงก์ซัพพอรต์เคสฉุกเฉิน
เมื่อวันศุกร์ 12 ก.ค.2567 “ตลาดทุนไทย” มีประเด็นที่ทำให้ “นักลงทุน” ต้องผวากันอีกครั้ง สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ นายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และบริษัทย่อยที่ EA เป็นผู้ถือหุ้น 99.99% (ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด) และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส
โดยปรากฏข้อเท็จจริงและหลักฐานที่พิจารณาได้ว่า ในช่วงปี 2556-2558 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และ/หรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกล่าวโทษกรรมการและผู้บริหารของ EA ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กรณีร่วมกระทำการทุจริต และได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ต่อมาที่ประชุมบอร์ดได้รับทราบการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทกรรมการชุดย่อย และผู้บริหาร ทั้งนายสมโภชน์ และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล
ตั้ง “สมใจนึก-ชัชวาลย์ เจียรวนนท์”
นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ และ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้มีมติแต่งตั้งให้ตนเองดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมแต่งตั้งกรรมการบริษัทเพิ่มเติม ได้แก่ นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์, นายวสุ กลมเกลี้ยง และนายฉัตรพล ศรีประทุม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.67 เป็นต้นไป
รวมถึงยังมีมติเห็นชอบเพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติเพิ่มจำนวนกรรมการ และพิจารณาแต่งตั้ง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นกรรมการใหม่ของบริษัท (ต้องผ่านการประชุม AGM ก่อน) ซึ่งจะส่งผลให้กรรมการของบริษัทมีทั้งหมดจำนวน 13 คน
ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดยังได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ (Executive Committee) ดังนี้ นายวุฒิเลิศ เจียรนิลกุลชัย เป็นประธาน,นายสมใจนึก เองตระกูล กรรมการบริหาร,นายสมบูรณ์ อาหุนัย กรรมการบริหาร,นายจำรัส สว่างสมุทร กรรมการบริหาร,นายณาศิส ประเสริฐสกุล กรรมการบริหาร, นายวสุ กลมเกลี้ยง กรรมการบริหาร และนายฉัตรพล ศรีประทุม กรรมการบริหาร
โดยนายวสุ กลมเกลี้ยง เป็นผู้เชี่ยวขาญทางด้านสายงานการเงินการลงทุน และเป็นอดีตผู้บริหารธนาคารพาณิชย์จึงให้รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน หรือ CFO แทนนายอมร ทรัพย์ทวีกุล
อย่างไรก็ตาม ยอมรับปัจจุบันบริษัทได้รับผลกระทบจากกระแสข่าวเชิงลบต่างๆ ที่เผยแพร่ออกมา แต่มิได้ทำให้พื้นฐานกิจการที่แข็งแกร่งเปลี่ยนแปลงไป มีทีมงานที่มีความสามารถที่จะช่วยกันขยายธุรกิจต่อได้ และหากเกิดปัญหาใดเพิ่มเติม บริษัทก็มีแผนสำรองระยะฉุกเฉินรองรับไว้แล้ว แต่บริษัทก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจในวงกว้างให้มากขึ้น และเชื่อหลังจากนี้ความเชื่อมั่นต่อบริษัทจะกลับมาเป็นปกติได้
กรณี ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตผู้บริหาร สมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของทั้ง 2 คนที่ต้องชี้แจงตามกระบวนการกฎหมายต่อไป โดยคณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำกล่าวโทษ และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัททราบโดยเร็ว
นอกจากนี้บริษัทจะมีการเพิ่มเติมมืออาชีพด้านบริหารธุรกิจเข้ามาเสริมความแข็งแรง โดยเฉพาะตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่จะเข้ามาแทนตนเองที่รักษาการอยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม คาดหวังจะได้ชื่อภายใน เดือน ก.ค. 2567
“ถึงแม้ว่าคุณสมโภชน์และคุณอมรจะลาออกไปก็ไม่เป็นปัญหา ผมช่วยวางนโยบาย EA อยู่แล้ว และตอนนี้จะลงมาดูเรื่องบริหารจนกว่าจะหาซีอีโอใหม่ที่เหมาะสมได้ แผนการขยายธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ บริษัททำงานด้วยระบบและทีมงานที่ตั้งขึ้นมาเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับคุณสมโภชน์และคุณอมรในโครงการต่างๆ มายาวนานและเป็นมืออาชีพ มั่นใจว่าจะพลิกสถานการณ์ได้”
ส่วนการที่ EA ถูกถอดออกจาก SET ESG Ratings นั้น สิ่งที่บริษัททำได้คือการต้องสร้างความมั่นใจต่อไป พร้อมกับดำเนินธุรกิจตามแผนที่วางไว้ให้ได้เพื่อพิสูจน์ให้ประจักษ์
มั่นใจชำระคืนหนี้ “แบงก์-หุ้นกู้” ครบกำหนด
นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน EA เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูง ส่งผลให้บริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการยื่นขอออกตราสารหนี้หรือตราสารทุนต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ได้
ทั้งนี้ คณะผู้บริหารและทีมงานที่บริหารจัดการยังคงเป็นชุดเดิม สำหรับภาระหนี้สินของบริษัทที่จะครบกำหนดชำระในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ประกอบด้วย ภาระหนี้สถาบันการเงินประมาณ 3,200 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวน 5,500 ล้านบาทนั้น สามารถชำระได้ด้วยกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมประมาณ 5,000 ล้านบาท (หัก Adder โครงการที่ครบกำหนดแล้ว)
และเตรียมวงเงินสำรองจากสถาบันการเงินและหุ้นกู้ที่จะเสนอขายเพิ่มเติม โดยหุ้นกู้อยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นเอกสารต่อก.ล.ต เพื่อเสนอขายต่อไป
ธนาคารต่างๆ ยังคงให้การสนับสนุนการเงินกับบริษัท แม้จะเป็นกรณีออกขายหุ้นกู้ได้ไม่จำนวนเท่าที่วางแผน ธนาคารก็พร้อมจะสนับสนุนส่วนที่ขาดหายไป โดยพันธมิตรการเงินหลักของบริษัทคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาเอเชีย, องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น, ธนาคารมิซูโฮ และธนาคารทหารไทยธนชาต เป็นต้น
ตลท. ขึ้น “SP” หุ้น EA รอบริษัทแจง
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการขึ้นเครื่องหมาย H กับ หุ้น EA ช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค. ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับผลกระทบฐานะการเงิน ที่อาจเกิดขึ้นจากภาระหนี้สินโดยเฉพาะเงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2567 และแนวทางที่ชัดเจนในการชำระหนี้ดังกล่าว รวมทั้งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของบริษัท และต่อมาช่วงการซื้อขายภาคบ่าย ตลท. แจ้งการขึ้นเครื่องหมาย SP แทน เครื่องหมาย H กับหุ้น EA เพื่อพักการซื้อขายเนื่องจากบริษัทยังไม่สามารถชี้แจงข้อมูลตามที่ให้ชี้แจงเพิ่มเติมได้ การพักนี้มีระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบการซื้อขายจนกว่า ตลท. จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งหากข้อมูลได้ครบถ้วน
ตลท. ถอด EA ออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน
นอกจากนี้ ตลท. เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า คณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนมีมติถอด EA ออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings เนื่องจากบริษัทขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ SET ESG Ratings ที่กำหนดไว้ว่า
“ต้องไม่เป็นบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือมีกรรมการหรือผู้บริหารถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ การสร้างผลกระทบด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม” โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป
“ไทยบีเอ็มเอ” ขึ้นเครื่องหมาย IC
ขณะที่วันเดียวกันนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ก็ได้ขึ้นเครื่องหมาย IC ตราสารหนี้ของ EA ทั้งตั๋วแลกเงิน 4 รุ่น ทยอยครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ วันที่ 23 ก.ค. 2567 ถึง 12 ธ.ค. 2567 รวมมูลค่า 1,400 ล้านบาท
รวมถึงหุ้นกู้อีก 16 รุ่น ทยอยครบกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2576 มูลค่ารวมราว 31,000 ล้านบาท เพื่อเตือนนักลงทุนเฝ้าระวังการลงทุนต่อไป
“ทริสเรทติ้ง” หั่นเครดิตเป็น BBB+
ส่วน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด หรือ ทริสเรทติ้ง ได้ลดอันดับเครดิตองค์กรของ EA และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็นระดับ BBB+ จาก A- ในขณะที่ยังคงแนวโน้มอันดับเครดิต Negative หรือ ลบ เช่นเดิม
พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5.5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ BBB+ ด้วย โดยจะนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่กำลังจะครบกำหนดชำระในส.ค.และก.ย.นี้