BYD เผยปัญหา EA ไม่กระทบ ยันโปร่งใส-สภาพคล่องสูงกว่าเกณฑ์-ไทยสมายล์บัสฟื้น
บล.บียอนด์ (หุ้น BYD) เผยปัญหา EA ไม่กระทบ ยืนยันกิจการทำธุรกิจหลักทรัพย์โดยโปร่งใสดูแลทรัพย์สินของลูกค้าอย่างเข้มงวด อีกทั้งเงินทุนมากเพียงพอ อัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสูง 197% มีจัดแยกบัญชีลูกค้าต่างหาก ส่วนไทยสมายล์บัสยอดผู้โดยสารเป็นขาขึ้นแล้ว
นางสาวออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) (BYD) ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลทรัพย์สินของลูกค้า สถานะทางการเงิน และการดำเนินงานของบริษัท โดยเปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่ข่าวฉบับที่ 143/2567 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 เกี่ยวกับการกล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) (EA) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
และได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นั้น ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของข่าวสารออกไปในวงกว้างผ่านสื่อต่างๆ สร้างความกังวลต่อลูกค้า และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตลอดจนบุคคลทั่วไป และมีการสอบถามเข้ามาที่บริษัทฯ อันเนื่องมาจากการที่ EA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยอ้อมในบริษัทโดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 19.62 ผ่านบริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮดิง จำกัด
บริษัทจึงเห็นควรให้ข้อมูลที่เป็นจริง และชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการดำเนินงานและการบริหารกิจการของบริษัทดังนี้
1. การดูแลทรัพย์สินของลูกค้าอย่างเข้มงวด
บริษัทฯมีมาตรฐานการดูแลทรัพย์สินของลูกค้าอย่างเข้มงวด มีการแยกบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของบริษัทฯ อย่างชัดเจน และมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด
โดยมีสายงานกำกับการปฏิบัติงานและตรวจสอบภายในทำการตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน และรายงานผลการกำกับและตรวจสอบต่อคณะกรรมการกำกับการปฏิบัติงานทุกดือน และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบทุกไตรมาส ตลอดจนมีการรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างโปร่งใสทุกเดือนอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทขอยืนยันว่า บริษัทจะดำเนินการกับทรัพย์สินของลูกค้าได้เฉพาะแต่ในกรณีที่มีคำสั่งโดยชัดแจ้งของลูกค้าผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้น โดยการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้าเป็นไปตามมาตรฐานสูงสุดของกฎหมาย และเกณฑ์การกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ขอให้ลูกค้าทุกท่านมั่นใจว่าจะไม่มีการนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปใช้นอกเหนือคำสั่งไม่ว่าในกรณีใดๆ
2. บริษัทมีฐานะการเงินที่มั่นคงและสภาพคล่องที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ
ปัจจุบันบริษัทมีเงินสด เงินฝากสถาบันการเงิน และเงินลงทุนระยะสั้นจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท จึงมีเงินทุนมากเพียงพอที่ใช้รองรับการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ได้อย่างมั่นคง
โดยได้แยกบัญชีออกมาต่างหากจากเงินของลูกค้าที่นำมาวางเป็นหลักประกันไว้กับบริษัทเป็นจำนวนกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าสามารถนำฝากหรือเบิกถอนได้ตามสิทธิและตามความประสงค์ของลูกค้า
ทั้งนี้ เงินทั้งสองส่วนดังกล่าวมีการแยกบัญชีออกจากกันอย่างชัดเจน และมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดตามที่กล่าวในข้อ 1 ข้างต้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต
3. ด้านการลงทุนในกิจการขนส่งสาธารณะ
จากกรณีที่บริษัทมีการลงทุนและให้กู้ยืมแก่บริษัท ไทย สมายล์บัส จำกัด (บริษัท TSB) ผู้ให้บริการเดินรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้วนั้น บริษัทฯ ได้แยกเงินทุนสำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ออกจากการลงทุนและการให้กู้ยืมแก่บริษัท TSB
ดังนั้น การลงทุนนี้ จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทแต่อย่างใด
จากการติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท TSB พบว่า มีจำนวนผู้โดยสารและรายได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามการขยายธุรกิจ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวนรถโดยสารให้บริการเฉลี่ยประมาณ 1,413 คันต่อวัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 แสนคน (สูงสุดถึงกว่า 3.5 แสนคน) ส่งผลให้มีรายได้ต่อวันเพิ่มขึ้นในระดับสูงสุดตั้งแต่ประกอบกิจการมา (New high)
โดยสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการในระยะแรกของการลงทุนนี้ บริษัท TSB ยังไม่มีกำไรจากการดำเนินงาน แต่การเดินรถโดยสารสาธารณะของบริษัท TSB เป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่ทำให้เกิดมลภาวะที่เป็นพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินโครงการ "Bangkok e-bus Program" เพื่อถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2564-
2573 (ค.ศ. 2021-2030) ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset)ของสมาพันธรัฐสวิส
และจากการจัดเก็บข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตปรากฏว่า โดยเฉลี่ยแล้ว รถ E Bus หนึ่งคัน สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์ได้วันละ 0.21 ตันคาร์บอน หรือปีละประมาณ 80 ตันคาร์บอน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 8,000 ต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ส่วนเพิ่มให้แก่บริษัท TSB อีกด้วย
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอดีตผู้บริหารของ EA นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบใดต่อการดำเนินงานของบริษัทโดยบริษัทได้มีการขยายการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ มีผู้บริหารมืออาชีพ และพนักงานเข้ามาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนมานำเสนอกับผู้ลงทุน ซึ่งจะสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้ในอนาคต
ณ 31 มีนาคม 2567 บริษัทมีสินทรัพย์ 12.014 ล้านบาท หนี้สิน 244 ล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอันเป็นปกติของธุรกิจจำนวน 61 ล้านบาท) โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้น 11,770 ล้านบาท สูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย
และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 บริษัทมีสถานะเงินกองทุนสภาพคล่อง (Net Capital - NC) 1,862 ล้านบาท และ อัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Ratio-NCR) ที่ 197% แสดงถึงการที่บริษัทฯ มีเสถียรภาพ ความมั่นคง แข็งแกร่ง และความพร้อมในการสร้างการเติบโตในธุรกิจหลักทรัพย์ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการ และผู้บริหารที่มีคุณวุฒิ มีประสบการณ์ และเชี่ยวชาญในธุรกิจ และการกำกับดูแลตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลท.