สรุปมุมมอง ‘การลงทุน’ เดือนก.ค. 2567
กลยุทธ์การลงทุนในเดือนก.ค. 67 ได้ลดการลงทุนในตลาดหุ้นโลกลง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งหลังของปีที่เพิ่มสูงขึ้น
ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI All-Country World Equity ปรับตัวขึ้น 2.3% โดยทั้งตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (DMs) และตลาดเกิดใหม่ (EMs) ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น โดยพอร์ตการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) แบบความเสี่ยงปานกลาง (Moderate) และแบบเชิงรุก (Aggressive) ของเราให้ผลตอบแทนในเดือนพ.ค. (ในสกุลเงินบาท) อยู่ที่ 0.4% 1.1% และ 1.3% ตามลำดับ หนุนจากการปรับขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐ ฯ และเวียดนาม นับจากต้นปีผลตอบแทนพอร์ตการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) แบบความเสี่ยงปานกลาง (Moderate) และ แบบเชิงรุก (Aggressive) อยู่ที่ระดับ 3.8% 9.0% และ 10.5% ตามลำดับ
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของเราในเดือนก.ค. 67 เราได้ลดการลงทุนในตลาดหุ้นโลกลง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งหลังของปีที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมุมมองสำหรับแต่ละสินทรัพย์ของเราสรุปได้ดังต่อไปนี้
มาเริ่มกันที่ แนวโน้มตลาดหุ้นไทย ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ดัชนี SET ปิดตลาดปรับตัวลง 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และ 8.1% YTD โดยทีมวิจัยหลักทรัพย์ของหลักทรัพย์บัวหลวง คาดการณ์ว่า มาตรการใหม่ Uptick Rule เพื่อควบคุมการขายชอร์ตและ High Frequency Trade มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 67 รวมถึงการปรับเกณฑ์กองทุน ESG เพื่อลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น จาก 1 แสนบาท เป็น 2 แสนบาท และลดระยะเวลาถือครองจาก 8 ปี เหลือ 5 ปี น่าจะหนุนดัชนี SET ฟิ้นตัวได้เล็กน้อย โดยมีโอกาสแตะระดับ 1,350 จุด หนุนจากสัญญาณ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ การใช้จ่ายของรัฐที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวที่เติบโตจากปีก่อนหน้า และการลงทุนที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจเกษตรและสื่อสารจะรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งขึ้นในไตรมาส 2 ปี 67 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และความท้าทายของเศรษฐกิจโลกอาจทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวได้ไม่ดีนัก
แนวโน้มตลาดหุ้นเวียดนาม ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ตลาดต้องเผชิญแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ จากความกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินดองที่อ่อนลง 5% และการลดการปล่อยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (margin lending) ของบริษัทหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตามเราไม่คิดว่าปัจจัยเหล่านี้จะเป็นเหตุให้ตลาดหุ้นเวียดนามเข้าสู่ขาลงในระยะอันใกล้ ทั้งนี้แรงขายที่เกิดขึ้นนั้นกระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ ขณะที่การลดการปล่อยกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์เป็นผล มาจากการตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางเครดิตที่เข้มงวดขึ้น อีกทั้งการอ่อนค่าของสกุลเงินก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาค ทั้งนี้เศรษฐกิจของเวียดนามยังคงแข็งแกร่ง โดยมีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ที่ขยายตัว และการส่งออกที่เติบโตแข็งแกร่ง ปัจจุบันดัชนี VNI เทรดด้วยระดับอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (PER) ต่ากว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ดังนั้นตลาดจะยังปรับขึ้นได้อีก
แนวโน้มตลาดหุ้นจีน แม้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้น แต่การบริโภคและขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานยังคงชะลอตัว ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 20 bps ในครึ่งหลังของปี 67 และได้อนุมัติเงินกู้จำนวนมากสำหรับเทคโนโลยีและที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยา ซึ่งช่วยหนุนตลาดหุ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตามจีนยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะกลางถึงระยะยาว คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ, ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความขัดแย้งทางการค้า สำหรับการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Third Plenum) เราไม่คาดหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นหรือการปฏิรูปใหม่ ๆ ออกมา เราจึงได้ลดการลงทุนในหุ้นจีนสำหรับเดือนก.ค. นี้
แนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐ จากถ้อยแถลงของ Jerome Powell บ่งชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป และยังส่งสัญญาถึงการลดอัตราดอกเบี้ยในเวลาอันใกล้นี้ เรามองว่าการที่ตลาดโฟกัสไปที่ Dot Plot ในช่วงที่เป็น policy transition อาจไม่เป็นประโยชน์มากนัก ยกตัวอย่าง ในปี 62 จะเห็นความแตกต่างกันระหว่างการคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟดกับการปรับลดที่เกิดขึ้นจริง สำหรับสาเหตุที่ทำให้ในช่วงปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ (late cycle) การคาดการณ์นโยบายดอกเบี้ยล่วงหน้าทำได้ยากขึ้นเป็นเพราะสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกันและความคาดหวังของตลาด ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลาง ด้วยสถานการณ์เหล่านี้และผลกระทบด้านลบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดเป็นเวลานานที่อาจมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เราจึงแนะนำให้ขายหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงเดือนก.ค. 67